กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ. จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลาก ย้ำสายด่วน 1669 พร้อมให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจัดทำแผนหลบภัย พร้อมเตรียมกระเป๋ายังชีพแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจน “สิ่งของฉุกเฉิน-สิ่งของจำเป็น-สิ่งของมีค่า” เพื่อหยิบใช้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
ภายหลังจากที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากว่ามีหลายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาทิ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด โดยล่าสุดได้มีเหตุการณ์พนังกั้นน้ำยม ที่ จ.สุโขทัยแตกทะลัก ท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 200 หลัง ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดแล้ว โดยมีการตรวจสอบคู่สาย 1669 ให้พร้อมใช้งาน ซึ่งหากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวควรจดจำสายด่วน 1669 ให้ขึ้นใจ และหากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิกรสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สพฉ. ร่วมกับ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก แผนงานการจัดการด้านภัยพิบัติ และเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์เพื่อเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ (Design for Disaster) ได้จัดทำ “คู่มือรับภัยพิบัติ ฉบับพกพา” ขึ้น โดยในคู่มือได้แนะนำถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับประชาชนพื้นที่เสี่ยง โดยก่อนที่จะเกิดเหตุภัยพิบัติควรมีการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินก่อน เช่น การสร้างแผนฉุกเฉิน การหาวิธีแจ้งเหตุ การกระจายข่าวในชุมชน เส้นทางอพยพเพื่อไปพื้นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ควรมีการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมการอพยพอย่างสม่ำเสมอ มีการสร้างความรู้ให้กับประชาชนในชุมชนได้รู้จักการรับมือกับภัยพิบัติชนิดต่างๆ และที่สำคัญควรให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย
ทั้งนี้หากต้องอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลัน และอยู่ในพื้นที่ที่เกิดพายุ ประชาชนจะต้องคอยฟังประกาศเตือนภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อระวังภัยโดยการตรึงประตู หน้าต่าง ให้มั่นคง ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรขณะฝนตกฟ้าคะนอง และขณะฝนตกฟ้าคะนอง ห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ เสาไฟ และห้ามโทรศัพท์เด็ดขาด หากรู้สึกว่าบ้านกำลังจะพังให้ ห่อตัวเองด้วยผ้าห่ม หลบใต้โต๊ะ ใต้เตียง หรือที่แข็งแรงมั่นคง ส่วนการป้องกันเหตุน้ำป่าน้ำท่วมฉับพลันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องรีบอพยพขึ้นที่สูง ควรสวมเสื้อชูชีพ โดยหลีกเลี่ยงการเดินผ่านแนวธารน้ำ ช่องระบายน้ำ ห้ามเดินฝ่ากระแสน้ำเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการเดินควร ใช้ไม้ปักดินคลำทาง เพื่อสังเกตว่าดินตื้นลึกแค่ไหน และห้ามขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม แต่หากเกิดน้ำท่วมระหว่างอยู่ในรถ และน้ำขึ้นสูงรอบๆรถ ให้รีบออกจากรถโดยเร็ว
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ควรจัดเตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน และจัดทำรายการสิ่งของจำเป็นที่ต้องเตรียม โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้ 1.สิ่งของยามฉุกเฉิน คือ น้ำดื่ม มีดอเนกประสงค์ กระดาษชำระ วิทยุใส่ถ่าน เชือก เทปกาวสะท้อนแสง ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว เสื้อผ้า ไฟฉาย นกหวีด เทียนไข ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ ถุงพลาสติก ปากกาเมจิค และชุดปฐมพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย หน้ากาก ยาฆ่าเชื้อ สำลี ผ้าก็อซ แหนบ ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ยา 2.สิ่งของมีค่า คือ เอกสารหลักฐาน และสิ่งสำคัญในชีวิต อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ ทะเบียนบ้าน สมุดธนาคาร หนังสือเดินทาง เงินสด กุญแจบ้าน กุญแจรถ โทรศัพท์มือถือ ที่ชาร์ตโทรศัพท์มือถือ แว่นสายตา สมุดบันทึก 3.สิ่งของจำเป็น และของใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการดำรงชีวิต อาทิ อาหารแห้งพร้อมรับประทาน ชุดชั้นใน หนังสือพิมพ์ (สามารถนำมาใช้เป็นผ้าห่มเพื่อกันหนาว นำมาพับเป็นจาน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือนำมาม้วนทำเป็นเฝือกฉุกเฉินได้) สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน จาน ชาม ช้อน ส้อม ขันโลหะ เข็มกลัด กระจกพกพา ถ่านสำรอง อุปกรณ์กันฝน เข็มกลัด นอกจากนี้สำหรับผู้หญิงควรมีผ้าอนามัย และสตรีมีครรภ์ควรพกสมุดฝากครรภ์และผ้าขาวบางติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อใช้ในกรณีคลอดฉุกเฉิน อีกทั้งควรจัดเตรียมผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนผู้พิการควรเตรียมบัตรประจำตัวคนพิการและสมุดบันทึกการดูแลรักษาไว้ติดตัวตลอดเวลาด้วย และสำหรับเด็กทารกควรเตรียมนมผง ขวดนม อาหารเสริม ผ้าอ้อม สมุดบันทึกการฉีดวัคซีน และของเล่น