กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2557 ที่โถงชั้น 1 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าวการได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นระดับอาเซียน เพื่อยกย่องความสามารถการทำงานวิจัยเพื่อส่วนรวม ให้แก่นักวิจัยของประเทศไทย ได้แก่ ดร.ณัฏฐพร พิมพะ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะนักวิจัยห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิท โดย ดร.ณัฏฐพร ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นอาเซียน-ยูเอส ( ASEAN-US Science Prize for Women ) ประจำปี 2557 จากผลงานวิจัยเทคโนโลยีไส้กรองนาโนจากเซรามิคเคลือบเงินสำหรับเครื่องผลิตน้ำดื่มสะอาดแก่ชุมชนในช่วงอุทกภัย รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลร่วมระหว่างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประเทศสหรัฐอเมริกาโดยการสนับสนุนจาก Underwriter Laboratories
พิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของอาเซียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย (เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557)
นายสมชาย กล่าวว่า การที่นักวิจัยได้ทำงานวิจัยหรือนวัตกรรมขึ้นมาชิ้นงานหนึ่งเพื่อให้สังคมได้ใช้ประโยชน์นั้น นักวิจัยต้องใช้ทั้งความรู้ ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมในเรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศนั้น ต้องร่วมกันระดมสมองและทำงานให้ผลงานออกมาสู่สาธารณะและใช้งานได้จริง ซึ่งนักวิจัยของศูนย์นาโนเทคได้พิสูจน์ความสามารถของตัวเองต่อสังคมและประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้เป็นอีกก้าวที่สำคัญของการพิสูจน์ความสามารถของนักวิจัยไทยในเวทีระดับนานาชาติที่ ดร.ณัฏฐพร พิมพะ นักวิจัยของศูนย์นาโนเทค สวทช. เป็นผู้ชนะรางวัล ASEAN-US Science Prize for Women ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดขึ้นร่วมกันระหว่างอาเซียนและประเทศสหรัฐอเมริกา มาเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับนักวิจัยสตรีดีเด่นของภูมิภาคอาเซียน ที่มีผลงานทั้งในด้านการวิจัยจนถึงการนำเอามาใช้ประโยชน์ได้จริง
รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า รางวัลในปีนี้มอบให้นักวิทยาศาสตร์สตรีของภูมิภาคอาเซียนซึ่งทำงานวิจัยหลักเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ นับเป็นการสนับสนุนความพยายามของอาเซียน ที่จะพัฒนาสมรรถภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาคเพื่อการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทั้งภูมิภาค รางวัลที่ได้รับประกอบด้วยโล่และเงินรางวัล 25,000 เหรียญสหรัฐ
“ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในระดับนานาชาติ เพราะเป็นเทคโนโลยีและงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ผลิตน้ำดื่มสะอาดในช่วงที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัยน้ำท่วมได้จริง และสามารถช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงน้ำสะอาดได้ แม้ในภาวะวิกฤติด้านภัยพิบัติต่างๆ เป็นตัวอย่างของการนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างนาโนเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ” รองปลัด วท. กล่าว ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ผลงานของนาโนเทคได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมุ่งมั่น ทุ่มเททำงานวิจัย เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาสำคัญเพื่อสังคมโดยรวม ตามโครงการวิจัยมุ่งเป้าในด้านน้ำสะอาด (Clean Water Flagship) ได้รับการยอมรับทั้งในด้านวิชาการและด้านสังคม หากย้อนไปในช่วงสภาวะวิกฤติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 นั้น ศูนย์นาโนเทค สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัย ได้ระดมสมองว่าเราจะมีงานวิจัยอะไรของ สวทช. ที่ช่วยเหลือสังคมได้บ้าง หรือมีอะไรที่นักวิจัยไทยจะช่วยผู้ประสบภัยได้บ้าง ก็พบว่ามีต้นแบบวัสดุกรองน้ำที่นักวิจัยกำลังพัฒนากันอยู่แล้วในห้องแล็บ ทีมวิจัยจึงช่วยกันระดมสมองพัฒนาวัสดุและเสริมเทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนเข้าไปเพื่อให้ระบบกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกระทั่งออกมาเป็นเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน สามารถผลิตน้ำดื่มในสภาวะวิฤกติอุทกภัยและภัยพิบัติต่างๆ ได้ โดยนาโนเทคและสภากาชาดไทยได้ร่วมกันพัฒนานำเครื่องผลิตน้ำดื่มนี้มาใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ดีมาก กำลังการผลิตประมาณ 200 ลิตร ต่อชั่วโมง สำหรับผู้ประสบภัยได้มากกว่า 1,000 คนต่อวัน ซึ่งขณะนี้เครื่องดังกล่าว ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้สภากาชาดไทย นำไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ต่อไป
ดร.ณัฏฐพร พิมพะ นักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นอาเซียน-สหรัฐอเมริกา กล่าวในฐานะตัวแทนทีมวิจัยศูนย์นาโนเทค ว่า งานวิจัยที่ได้รับรางวัลครั้งนี้เป็นงานวิจัยมุ่งเป้าในเรื่องน้ำสะอาดเพื่อให้สามารถช่วยประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ มีน้ำดื่มสะอาดได้จริงโดยร่วมกับสภากาชาดไทยที่สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ต่อยอดได้จริง ในสภาวะการขาดแคลนน้ำในยามวิกฤติ รวมทั้งทีมวิจัยได้มีการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือกับนานาชาติ ที่สำคัญคืองานวิจัยนี้ทีมวิจัยพยายามที่จะนำเอานาโนเทคโนโลยี มาช่วยทำให้ระบบกรองน้ำหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโนที่ทำจากเซรามิคเคลือบเงิน
“จุดเด่นของไส้กรองนาโนเซรามิคซิลเวอร์ คือ สามารถฆ่าเชื้อที่ผิวของไส้กรองได้ จะทำให้อายุการใช้งานของไส้กรองนาโนเซรามิคซิลเวอร์นานขึ้นกว่าไส้กรองน้ำทั่วไปประมาณเท่าตัว และยังช่วยลดเวลาการดูแลรักษาไส้กรอง เนื่องจากไส้กรองไม่มีเมือกหรือตะไคร่น้ำมาเกาะบนพื้นผิวของไส้กรอง ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้ เป็นเทคโนโลยีการตรึงอนุภาคนาโนลงบนไส้กรอง ทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีอนุภาคนาโนหลุดออกมา โดยผ่านการทดสอบการเคลือบนี้แล้วว่า การตรึงพื้นผิวของไส้กรองอยู่ได้นานโดยไม่มีซิลเวอร์นาโนหลุดหรือปนเปื้อนออกมาแต่อย่างใด และคุณภาพน้ำดื่มยังได้มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขด้วย” ดร.ณัฏฐพร กล่าว
ดร.ณัฏฐพร กล่าวว่า ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ ดร.จามร เชวงกิจวณิช นักวิจัยห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิท และคณะวิจัย Clean Water Flagship ที่ร่วมกันทำงานวิจัยนี้ ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชนไทยเพื่อผลิตสำหรับการใช้งานอย่างกว้างขวางต่อไป