กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ปภ.
กรมป้องกันฯ เตือนหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยเมื่อเช้านี้แล้ว ทำให้คลื่นลมแรง
เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ชาวเรือที่เดินทางผ่านปลายแหลมญวน ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ใน 22 จังหวัดเสี่ยงภัยภาคใต้และภาคตะวันออก
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้หย่อมความกดอากาศต่ำ
กำลังแรงในทะเลจีนใต้ ได้ก่อตัวขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของปลายแหลมญวน และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก เข้าสู่ อ่าวไทยแล้วเมื่อเช้านี้ (20 ต.ค. 48) ทำให้คลื่นลมบริเวณที่หย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านมีกำลังแรง จึงขอเตือนให้ชาวเรือที่เดินทางผ่านปลายแหลมญวน เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะ 1 — 2 วันนี้ นอกจากนี้ กรมป้องกันฯ ยังตรวจสอบพบว่า อิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก ในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มในที่ลุ่มริมน้ำ ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่เสี่ยงภัยของ 22 จังหวัดภาคตะวันออก และภาคใต้ ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด กรมป้องกันฯ จึงได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 1 ปทุมธานี, เขต 3 ปราจีนบุรี, เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์, เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา รวมทั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย โคลนถล่ม จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ เตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรกล ให้พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาในทันทีที่เกิดภัย
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า นอกจากกรมป้องกันฯ จะได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมป้องกันภัยแล้ว
ยังได้ประสานไปยังผู้ว่าฯ 22 จังหวัดเสี่ยงภัย ให้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ พร้อมกำชับให้อำเภอ กิ่งอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลกลุ่มฝนจากเรดาห์ตรวจอากาศจากเว็บไซต์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา (www.tmd.go.th) ทุกชั่วโมง หรือคำเตือนจากกรมป้องกันฯ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งตรวจสอบปริมาณน้ำฝน ข้อมูลระดับน้ำทะเล ระดับน้ำในแม่น้ำ รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม โคลนถล่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัย จะได้ประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพิ่มความระมัดระวัง ติดตามพยากรณ์อากาศ และคำประกาศแจ้งเตือนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์ผิดปกติ ให้เตรียมขนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของไว้บนที่สูง และรีบอพยพจากพื้นที่โดยด่วน ในการนี้ หากพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป--จบ--