กสอ. บุกส่งเสริม SMEs ชายแดน รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน สนองรัฐบาลใหม่

ข่าวทั่วไป Monday September 8, 2014 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งผลักดัน และเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในแนวชายแดน โดยการลงพื้นที่สำรวจศักยภาพของผู้ประกอบการ พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อรองรับการเปิดเขตเศรษฐกิจชายแดนพิเศษ ทั้ง 12 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด อาทิ จังหวัดตาก มุกดาหาร สงขลา กาญจนบุรี และเชียงราย เป็นต้น สอดรับนโยบายของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และลดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย พร้อมทั้งลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยการกระจายการค้าและการลงทุนไปยังเขตพื้นที่แนวชายแดนที่ติดกับเมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดน ทั้งนี้ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีดินแดนติดกับประเทศเมียนมาร์มีมูลค่าการค้าชายแดนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 กว่า 6.8 พันล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยที่มีโอกาสทางการตลาดสูงในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเบ็ดเตล็ด อาทิ ของประดับตกแต่งภายใน ของใช้ต่างๆ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน จึงเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการพื้นที่ชายแดนภาคเหนือเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการที่หลากหลายเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถใช้โอกาสในการขยายธุรกิจ และลงทุน เชื่อมโยงการค้าร่วมกับสมาชิกในอาเซียนผ่านแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการกลยุทธ์การค้าชายแดน โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) ฯลฯ สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมโครงการของ กรมฯ ตลอดจนเข้ารับปรึกษาและสอบถามข้อมูลอุตสาหกรรมในประชาคมอาเซียน รวมถึงรับคู่มือเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการ ได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-202-4414 – 18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ต้องเร่งผลักดัน และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้ครอบคลุมทั้ง 12 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา กาญจนบุรี เชียงราย หนองคาย นครพนม และนราธิวาส โดย ในปี 2557 รัฐบาลจะเริ่มนำร่องในระยะแรกบนเขตเศรษฐกิจ 5 เขต คือ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา และจะดำเนินการอีก 5 พื้นที่ใน 7 เขตที่เหลือในปี 2559 ตามนโยบายของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค และแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในเขตพื้นที่ชายแดนทั้ง 12 แห่ง ถือเป็นไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากมีฐานการผลิตที่โดดเด่น มีโอกาสขยายตัว และมีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การเงิน แรงงาน ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง รวมถึงมีการคมนาคมที่สะดวก เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตพัฒนาอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจากสถานการณ์การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอันได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 (ม.ค.- มิ.ย.) รวม กว่า 4.8 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดน โดยผู้ประกอบไทยจะต้องมีความรู้ในการทางธุรกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งในเชิงรับและเชิงรุก ทั้งในเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับ ระบบโลจิสติกส์ และการวางกลยุทธ์ด้านการตลาด และข้อควรอื่น ๆ เช่น ความสัมพันธ์ท้องถิ่น สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการที่หลากหลายเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถใช้โอกาสในการขยายธุรกิจ และลงทุน เชื่อมโยงการค้าร่วมกับสมาชิกในอาเซียนผ่านแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการกลยุทธ์การค้าชายแดน โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) เป็นต้น ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า มูลค่าการค้าชายแดน แบ่งออกเป็นการส่งออก 298,126.55 ล้านบาท และการนำเข้ากว่า 186,293.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.33 และ 5.48 ตามลำดับ โดยมาเลเซีย มีมูลค่าการค้าชายแดนกับไทยสูงสุดกว่า 140,922.82 ล้านบาท โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปมาเลเซีย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น ยางผสม ส่วนประกอบรถยนต์ แผ่นปูพื้น และไม้แปรรูปจากยางพารา (ที่มา: กองการร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ) สำหรับ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่มีดินแดนติดกับประเทศเมียนมาร์มีมูลค่าการค้าชายแดนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 กว่า 6.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.82 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสเติบโตสูงในพื้นที่ดังกล่าวได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคและ สินค้าเบ็ดเตล็ด อาทิ ของประดับตกแต่งภายใน ของใช้ต่างๆ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน กาแฟ ของใช้ ฯลฯ สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมโครงการของ กรมฯ ตลอดจนเข้ารับปรึกษาและสอบถามข้อมูลอุตสาหกรรมในประชาคมอาเซียน รวมถึงรับคู่มือเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการ ได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-202-4414 – 18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ