กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--โตโยต้า มอเตอร์
โตโยต้า มอเตอร์ เปิดตัวนวัตกรรมสังคมรูปแบบใหม่ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” เสริมศักยภาพธุรกิจระดับชุมชนให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน เผย 3 โครงการนำร่องประสบความสำเร็จ เล็งขยายผลต่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ใน 6 ปีข้างหน้า ผ่านงานเสวนาในหัวข้อ “นวัตกรรมสังคม ปฏิรูปเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ” โดยนายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เผยโฉมนวัตกรรมสังคม(Social Innovation) ต้นแบบ "โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์" หลังจากประสบความสำเร็จโครงการนำร่องใน 3 พื้นที่ธุรกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม ในกลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอท็อป จังหวัดกาญจนบุรี ต่อด้วยกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านเตยปาหนัน บ้านวังหิน จังหวัดกระบี่ และแกงไตปลาแม่บ้านเกษตรกรท่าข้ามสัมพันธ์ จังหวัดตรัง ตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมา โดยโตโยต้าใช้หลักองค์ความรู้ขององค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมกับธุรกิจชุมชนของไทย ได้แก่ วิถีโตโยต้า (Toyota Way) และระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) เช่น ในด้านความสามารถในการผลิต การส่งมอบงานตรงเวลา การควบคุมคุณภาพ การบริหารสินค้าคงคลัง และการบริหารต้นทุนในกระบวนการผลิต ผ่านการถ่ายทอดจากบุคลากรของโตโยต้าสู่พื้นที่ชุมชน
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทโตโยต้าฯ เผยว่า ในการดำเนินการ "โรงสีข้าวรัชมงคล" ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเอาความรู้ของโตโยต้าไปประยุกต์ใช้กับระบบการทำงานในรูปแบบอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจรถยนต์ ซึ่งทำให้โตโยต้าเล็งเห็นถึงแนวทางและความเป็นไปได้ต่างๆ ในการนำความรู้ที่องค์กรมีไปถ่ายทอดสู่ธุรกิจในแขนงอื่น
เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โตโยต้าเล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจชุมชนที่มีสัดส่วนถึง 25% ของ GDP ประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท กลับสามารถดำเนินธุรกิจและอยู่รอดได้เพียง 5% ปัญหาที่ทำให้ธุรกิจชุมชนไม่สามารถดำเนินต่อไปได้นั้น เกิดจากปัญหาจากการดำเนินธุรกิจที่ขาดระบบ
"โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์" จึงเป็นโครงการที่นำเอาความรู้ในเชิงบริหารจัดการองค์กรมาปรับใช้กับธุรกิจชุมชน ด้วยการเข้าไปให้ความรู้และร่วมลงมือทำกับผู้ประกอบการแต่ละชุมชน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด ลดต้นทุนการผลิต ส่งผลสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ด้วยการกระจายรายได้สู่ประชาชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
"สำหรับโครงการ "โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์" เป็นนวัตกรรมสังคมรูปแบบใหม่ ที่ไม่ยึดหลักการตอบแทนกันในเชิงธุรกิจ หรือ Creating Shared Value (CSV) เห็นได้จากการที่โตโยต้านำเอาองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจชุมชนที่มีอย่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค ดังที่เห็นได้จากโครงการนำร่องทั้ง 3 แห่ง ทั้งในด้านประสิทธิผลการผลิต คุณภาพ การส่งมอบงาน นำไปสู่หัวใจสำคัญคือ การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้นั่นเอง" ผศ.ดร.กฤตินี กล่าวในงานเสวนา
นายวุฒิกร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลความสำเร็จดังกล่าว โตโยต้าจึงมีความคิดที่จะเพิ่มโครงการ "โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์" ให้เกิดขึ้นในอีก 3 แห่ง คือ ภาคกลางตอนล่าง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2557 ก่อนที่จะขยายไปสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2563 เพื่อเป็นการขับเคลื่อนความสุขให้กับสังคมไทย ภายใต้สโลแกน “โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข” นอกจากนี้โตโยต้ายังมีแผนการพัฒนาโครงการโดยการให้บริษัทในเครือฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการอย่างครบวงจร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไป