กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม
กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนมกรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๗ ใน ๗ สาขา จำนวน ๖๘ รายการ กระตุ้นการรับรู้ให้สังคม มุ่งหวังปกป้องคุ้มครองมิให้สูญหาย ผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก
วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร และข้าราชการให้การต้อนรับกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ตระหนักถึงสถานการณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage - ICH) ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย และยังมีการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหลายประเภทไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดการบิดเบือนผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้ เพื่อเป็นการป้องกันและคุ้มครองมรดกที่สำคัญของชาตินี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้ดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติขึ้น เพื่อให้มรดกภูมิปัญญาฯ ที่อยู่ในอาณาเขตของประเทศไทย ได้รับจัดเก็บอย่างเป็นระบบเป็นฐานข้อมูลสำคัญ อันจะช่วยเสริมสร้างบทบาท ความภาคภูมิใจให้ชุมชน บุคคลที่เป็นเจ้าของ ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟู และปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาฯ ของท้องถิ่นและของชาติ พร้อมรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน นำไปเป็นทิศทางในการดำเนินการ ทั้งด้านการพัฒนาองค์ความรู้ในมรดกภูมิปัญญาให้เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ในการนำไปต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูงที่เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การปลุกจิตสำนึกเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข้งโดยสนับสนุนการค้นหาอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชน และร่วมกันสืบสาน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ภูมิปัญญาท้องถิ่น การปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศสู่ระดับนานาชาติ และสร้างมาตรการทางการบริหาร หรือกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาเป็นสินค้าวัฒนธรรมที่เป็นเสน่ห์ มีรากวัฒนธรรม ซึ่งต่างจากสินค้า otop ทั้งยังมีความละเอียดประณีตเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งคือ สามารถพัฒนาสินค้าเชิงเศรษฐกิจอีกด้วย นอกจากนี้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังเป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรม กับประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงต้องช่วยกันรักษาให้คงอยู่ และสืบสานสู่คนรุ่นต่อไป เราจึงต้องช่วยกันรักษาให้คงอยู่ อันจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์การพัฒนา อย่างต่อเนื่อง และมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปี ๒๕๕๗ นี้ ถือเป็นปีที่ ๖ โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปี ๒๕๕๖ ซึ่งมีมรดกภูมิปัญญาฯ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน ๒๑๘ รายการ และในปี ๒๕๕๗ นี้มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาฯ จำนวน ๖๘ รายการ ใน ๗ สาขา ได้แก่ สาขาศิลปะการแสดง ๑๐ รายการ สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ๑๐ รายการ สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน ๑๐ รายการ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย ๑๐ รายการ สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล ๘ รายการ สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ๑๐ รายการ และสาขาภาษา จำนวน ๑๐ รายการ