เตรียมตัวประมูลบ้านจากกรมบังคับคดี

ข่าวอสังหา Wednesday September 10, 2014 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--TerraBKK คงเคยได้ยินกันมาบ้างว่าบ้านที่ได้จากการประมูลของกรมบังคับคดีนั้น ราคาถูกกว่าท้องตลาดเกือบครึ่ง และเมื่อเอามาปรับปรุงใหม่บางรายทำกำไรได้อย่างงาม ซึ่งหากไปดูขั้นตอนจากกรมบังคับคดีก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก สนใจทรัพย์ เตรียมหลักฐานและเอกสารไปในวันที่จัดการประมูล หากให้ราคาสูงสุดก็จบ ได้บ้านราคาถูกมาครอบครองสมใจ ง่ายดายและสวยงามจริงๆ? บ้านที่ถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการประมูลโดยกรมบังคับคดี จะเป็นบ้านที่ถูกบังคับให้ขายเพื่อใช้หนี้ จึงมีลักษณะเป็นบ้านที่ขายตามสภาพจริง ไม่มีการซ่อมแซมหรือต่อรองใดๆ อีก และการซื้อขายทอดตลาดนั้นกฎหมายไม่ให้ผู้ซื้อเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ขายหากทรัพย์นั้นชำรุดบกพร่อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 ดังนั้น การประมูลทรัพย์จากกรมบังคับคดี ไม่ใช่เรื่องง่าย ขั้นตอนการเตรียมตัวสำหรับผู้ประเมินเริ่มจาก 1. การมองหาทรัพย์ที่สนใจ ตรวจสอบราคา ก่อนการประมูล ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน 2. ตรวจสอบเจ้าของ คือควรตรวจสอบด้วยว่าผู้เป็นเจ้าของเดิมว่ามีแนวโน้มในการคัดค้านการขายหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมาย ลูกหนี้สามารถค้านราคาได้หนึ่งครั้ง ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุด ลูกหนี้คัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินควร กรณีนี้ลูกหนี้ต้องหาผู้ที่จะซื้อให้มีราคาสูงกว่านั้นมาสู้ราคา ถ้าหาไม่ได้เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดครั้งเดิมนั้นไป ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 309 ทวิ 3. ต้องเตรียมเงินสด ในการขอเข้าร่วมการประมูลสินทรัพย์ ต้อง เตรียมเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายกองจำหน่ายทรัพย์สินกรมบังคับคดีเพื่อใช้เป็นหลักประกันการเข้าสู้ราคา ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาทรัพย์สินที่กรมบังคับคดีเขาตีราคา และจำนวนเงินประกันที่ต้องวางก่อนประมูลทรัพย์ ก็อยู่ที่ 50,000 บาทกรณีทรัพย์ที่ประมูลมีราคาต่ำกว่า 20 ล้านบาท และวางเงินประกัน 1 ล้านบาทหากทรัพย์ที่ประเมินมีราคาสูงกว่า 20 ล้านบาท เงินก้อนนี้หากประมูลแล้วไม่ได้อะไรเลย สามารถขอคืนได้ 4. การประมูลจะจัดเป็น 3 ครั้ง ครั้งแรกราคาจะเริ่มที่ 80% ของราคาประเมินเจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าในการขายครั้งแรกไม่สามารถขายได้ ครั้งต่อๆไปจะเริ่มประมูลที่ราคา 50% แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่มีผู้เสนอสูงสุดในครั้งก่อนแต่ทรัพย์สินบางชิ้น มีผู้สนใจมาก ก็จะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะตัดจบตั้งแต่รอบแรก คู่แข่งที่ผู้ประมูลจะพบ นอกจากผู้เข้าร่วมประมูลทั่วไป นายหน้า นักเก็งกำไรแล้ว ยังมีธนาคารผู้เป็นโจทย์ และเจ้าของทรัพย์ที่กำลังจะโดนยึด ในจำนวนนี้ คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดคือทางธนาคารผู้เป็นโจทย์ เพราะต้องการดันราคาทรัพย์ชิ้นนี้ให้ได้มูลค่าสูงสุด 5. เมื่อชนะการประมูล หากสามารถฝ่าด่านจนชนะการประมูลได้ ต้องชำระค่าทรัพย์ทั้งหมดโดยหักเงินประกันออกกับกรมบังคับคดีภายใน 15 วันหลังการประมูล สามารถขยายเวลาไปได้ 3 เดือน เท่านี้ก็จะได้บ้านหลังนั้นมาครอบครองสมใจ อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=14259 สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.terrabkk.com/ Facebook : https://th-th.facebook.com/terrabkk Google+: https://plus.google.com/+TERRABKK Twitter : https://twitter.com/TerraBKK

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ