กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ปฏิบัติภารกิจตามนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรี ในการเตรียมการป้องกันอุทกภัยเชิงรุกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล เข้ากำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ ในพื้นที่คลองลากค้อน ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี รวมปริมาณวัชพืชประมาณ 300,000 ตารางเมตร ขณะนี้ (ณ วันที่ 9 ก.ย.57) สามารถกำจัดวัชพืชได้แล้ว 210,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในวันที่ 11 กันยายน 2557 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับมวลน้ำที่ไหลบ่ามาจากภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลในช่วงฤดูน้ำหลากเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีนโยบายสำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือและป้องกันอุทกภัยเชิงรุกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยในระยะเร่งด่วนได้มอบหมายให้เร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำตามลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางไหลของน้ำลงสู่ทะเล เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการดำเนินงานได้แบ่งมอบหน้าที่ร่วมกันระหว่างจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการกำจัดวัชพืช ในพื้นที่คลองลากค้อน หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 7 ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 14 กิโลเมตร จุดเริ่มโครงการที่หมู่ที่ 4 กม. ที่ 0+000 และสิ้นสุดโครงการที่หมู่ที่ 5 กม.ที่ 14+000 ปริมาณวัชพืชประมาณ 300,000 ตารางเมตร ซึ่ง ปภ.ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 200 คน รวมถึงนำเครื่องจักรกลหนักและเครื่องมืออุปกรณ์ ทั้งรถแบ็กโฮ และเรือเล็กจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วย เขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี และเขต 16 ชัยนาท เข้าดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2557 จนถึงขณะนี้สามารถกำจัดวัชพืชได้แล้วจำนวน 210,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในวันที่ 11 กันยายน 2557 ทั้งนี้ คลองลากค้อนเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ เขตรอยต่อของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับมวลน้ำที่ไหลบ่ามาจากภาคเหนือ และเป็นการเปิดช่องทางให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลในช่วงฤดูน้ำหลากเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงช่วยลดกระทบจากปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมฝั่งและที่ลุ่มใกล้แม่น้ำ