กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
บีโอไอเผยสถิติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วง 8 เดือนของปี 2557 พบว่ามีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 416,500 ล้านบาท โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีมูลค่า 45,900 ล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนจากต่างประเทศลดลงเพียงร้อยละ 9 สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ยังเดินหน้าลงทุนเพิ่มหลายเท่า
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือนของปี 2557 (มกราคม-สิงหาคม 2557) ว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 886 โครงการ เงินลงทุนรวม 416,500 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการปรับลดลงร้อยละ 27.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 1,225 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนปรับลดลงร้อยละ 38.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 673,900 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วง 7 เดือนก่อนหน้าที่มีอัตราลดลงมากกว่า โดยจำนวนโครงการในช่วง 7 เดือนลดลงร้อยละ 30.3 ส่วนมูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 41.4
นอกจากนี้ ยังพบว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 เป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในไทยจำนวน 458 โครงการ หรือร้อยละ 52 ของจำนวนคำขอทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนรายใหม่เริ่มมีความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ มูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สูงถึง 45,900 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบรายเดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2557 ยกเว้นเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีเงินลงทุนสูงถึง 158,700 ล้านบาท เนื่องจากมีการยื่นขอรับส่งเสริมของกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลระยะที่ 2 (อีโคคาร์ 2) จำนวน 10 ราย
โครงการสำคัญที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในเดือนสิงหาคมได้แก่ กิจการผลิตโลหะเสริมแรงในยางรถยนต์ กิจการผลิตเคมีภัณฑ์ กิจการผลิตก๊าซไฮโดรเจนและคาร์บอนมอนอกไซด์ กิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ กิจการผลิตตลับลูกปืนสำหรับเพลาขับ กิจการเขตอุตสาหกรรม กิจการแต่งสำเร็จสิ่งทอ กิจการวิจัยและพัฒนาด้านยานยนต์ กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานยนต์และเครื่องจักร
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับความสนใจของรับส่งเสริมในช่วง 8 เดือน คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 181 โครงการ เงินลงทุน 190,600 ล้านบาท
รองลงมาเป็นกลุ่มบริการและสาธารณูปโภค 260 โครงการ เงินลงทุน 108,000 ล้านบาท อันดับสาม กลุ่มเคมี กระดาษ และพลาสติก 93 โครงการ เงินลงทุน 45,100 ล้านบาท อันดับสี่ กลุ่มกิจการเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร 135 โครงการ เงินลงทุน 28,400 ล้านบาท
สหรัฐฯ อียู เกาหลีใต้ เดินหน้าลงทุนเพิ่มในไทย
ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign direct investment) ในช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2557) ปรากฏว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 550 โครงการ เงินลงทุนรวม 288,340 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินลงทุนปรับลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเงินลงทุน 316,247 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดในอัตราที่น้อยลงเช่นเดียวกับภาพรวมการลงทุน
นักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมเป็นอันดับหนึ่ง ยังคงเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น จำนวน 250 โครงการ มูลค่าลงทุน 100,100 ล้านบาท มูลค่าลงทุนจากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 51 เนื่องจากปริมาณความต้องการรถยนต์ในประเทศลดต่ำลง ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากคอมพิวเตอร์ไปสู่การผลิตโทรศัพท์มือถือและแทปเล็ท ซึ่งไม่ต้องการใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เป็นตัวเก็บข้อมูล และภาวะเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า
อันดับสอง เป็นการลงทุนจากสหภาพยุโรปลงทุน จำนวน 83 โครงการ เงินลงทุน 74,500 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 330 หรือกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 17,088 ล้านบาท
อันดับสาม เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 20 โครงการ เงินลงทุน 40,700 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 390 หรือเกือบ 4 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 8,167 ล้านบาท
อันดับสี่ เป็นการลงทุนจากเกาหลีใต้ จำนวน 30 โครงการ เงินลงทุนรวม 13,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 780 หรือกว่า 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 1,574 ล้านบาท