กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง โชว์ 2 ตัวอย่างนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีจากฝีมือเยาวชนในผู้ชนะเวทีประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศครั้งที่ 5 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ อันได้แก่ ประเภทความคิดสร้างสรรค์ โครงงานการพัฒนาสมบัติของสารยึดติดกล้ากล้วยไม้จากยางผลกาฝากด้วยนาโนซิงค์ออกไซด์ ด้วยการนำนวัตกรรมนาโนมาเพิ่มผลิตผลการเพาะพันธ์กล้วยไม้ท่องถิ่น จากโรงเรียนโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย และประเภทเชิงพานิชย์ โครงงานคุณภาพและปริมาณของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจากขยะอินทรีย์ และการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินด้วยสารละลายนาโนซิงค์ออกไซด์ จากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างไรก็ตามในปีนี้มีผู้ส่งผลงานกว่า 100 ผลงานจากทั่วประเทศ อาทิ แผ่นกรองดินเหนียวนาโนบำบัดน้ำเสียผงถ่านกาบกล้วยนาโนดูดซับควันและกลิ่นวัสดุนาโนจากแกลบสำหรับประยุกต์ใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ฯลฯ ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งเป้าหมายสร้างนักนาโนเทคโนโลยีตอบตลาดแรงขาย พร้อมดันองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ภาคชุมชน เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์ โดยที่ผ่านมามี การนำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในสังคมไทยในทุกภาคส่วน อาทิ การจัดสร้างหมู่บ้านนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังอาทิ หมู่บ้านข้าวนาโนเทคโนโลยีนาบ่อคำ หมู่บ้านผ้าไหมภูไทนาโน พระจอมเกล้าลาดกระบัง นวัตกรรมอัจฉริยะสำหรับเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดฯลฯ
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-329-8000 ต่อ 3074, 3034 หรือเข้าไปที่ www.nano.kmitl.ac.th
ศาสตราจารย์ ดร. จิติ หนูแก้ว คณบดี วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า วิทยาลัยนาโนฯ ได้จัดการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศขึ้นเป็นครั้งที่ 5ซึ่งได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีกับการประยุกต์ใช้วัสดุนาโน” โดยเน้นไปที่วัสดุนาโนคาร์บอนอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์และอนุภาคนาโนไททาเนียมไดออกไซด์ โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ระดับได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป ในส่วนประเภทของรางวัลแบ่งออกเป็น 3 ด้านได้แก่ ด้านนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ ด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และด้านนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยในปี นี้มีผู้ที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ใน 2 รางวัล ได้แก่
ด้านนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ โครงงาน การพัฒนาสมบัติของสารยึดติดกล้ากล้วยไม้จากยางผลกาฝากด้วยนาโนซิงค์ออกไซด์ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
ผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมนาโนมาประยุคใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะกล้วยไม้ โดยการนำกาฝากที่มียางเหนียวมาใช้ยึดติดกล้ากล้วยไม้ทดแทนการปลูกติดด้วยการตอกตะปู โดยยางผลกาฝากมีประสิทธิภาพในการยึดติดกล้ากล้วยไม้ได้ดี แต่พบปัญหาสำคัญคือการเกิดเชื้อราบริเวณตำแหน่งที่ใช้สารยึดติด โดยผลงานนี้ได้พัฒนาสมบัติของสารยึดติดกล้ากล้วยไม้จากยางผลกาฝากด้วยนาโนซิงค์ออกไซด์ โดยยางจากผลกาฝากผสมนาโนซิงค์ออกไซด์มีประสิทธิภาพในการยึดติดกล้ากล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่และสามารถยับยั้งการเกิดเชื้อราได้ดีกว่าถึง 80% นอกจากนี้ยางจากผลกาฝากผสมนาโนซิงค์ออกไซด์ยังมีผลเร่งการเจริญเติบโตของรากต้นกล้ากล้วยไม้ถึง 38% ซึ่งในอนาคตสามารถประยุกต์ใช้สารนาโนซิงค์ออกไซด์เพื่อใช้ในการผลิตสารยึดติดกล้ากล้วยไม้ในการอนุรักษ์กล้วยไม้ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นต้นแบบในการสังเคราะห์สารเพื่อใช้ในการยึดติดวัสดุต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อมและเป็นแนวทางในการควบคุมการกระจายพันธุ์ของกาฝาก
ด้านนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โครงงานคุณภาพและปริมาณของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจากขยะอินทรีย์ และการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินด้วยสารละลายนาโนซิงค์ออกไซด์ โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงงานวิทยาศาสตร์ที่นำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินด้วยสารละลายนาโนซิงค์ออกไซด์ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของมะเขือเทศและยับยั้งเชื้อรา เพื่อประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเพาะปลูกมะเขือเทศ ตลอดจนเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปริมาณขยะอินทรีย์ในสังคม รวมถึงลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกซึ่งจะมีผลระยะยาวทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ขณะเดียวกันยังสามารถควบคุมการกระจายของเชื้อราก่อโรคพืช
วิทยาลัยนาโนฯ ได้จัดให้มีการอบรมด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านนาโนเทคโนโลยีแก่ครูในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษานาโนเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนสร้างสรรค์โครงการเพื่อถ่ายองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ภาคชุมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การจัดตั้ง “หมู่บ้านนาโนเทคโนโลยี พระจอมเกล้าลาดกระบัง” ในภูมิภาคต่างๆ อันได้แก่ หมู่บ้านข้าวนาโนเทคโนโลยีนาบ่อคำ หมู่บ้านผักหวานนาโน พระจอมเกล้าลาดกระบังหมู่บ้านยางพารานาโน หมู่บ้านผ้าครามนาโน หมู่บ้านข้าวผ้าไหมภูไท หมู่บ้านเครื่องกรองน้ำลือคำหาญฯลฯ รวมถึงในปี 2557 สจล. ได้ร่วมมือกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมดำเนินการนำวัสดุนาโนเพื่อตรวจจับสารพิษบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนไทย ตลอดจนนำนาโนเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์ และพัฒนาประเทศชาติได้อย่างสูงสุด ศาสตราจารย์ ดร. จิติ กล่าวสรุป
สำหรับกิจกรรมการประกาศผลการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศครั้งที่ 5 ได้จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-329-8000ต่อ 3074, 3034 หรือเข้าไปที่ www.nano.kmitl.ac.th