กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--อาร์เอส
เมื่อเวลา 09.30 น. วันพุธที่ 10 กันยายน 2557 ณ อาคารหอประชุมชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซอยพหลโยธิน 8 กรุงเทพฯ มีกลุ่มผู้ประกอบการดิจิตอลทีวี 24 ราย เข้าร่วมการประชุมเรื่องการถ่ายทอดสดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ตามหนังสือเชิญจากสำนักงาน กสทช.
ทั้งนี้ นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์โลก 2014 ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 รายการโทรทัศน์สำคัญที่เผยแพร่ได้เฉพาะในฟรีทีวีเท่านั้นตามหลักประกาศมัสต์ แฮฟ (Must Have) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ไม่เคยเห็นด้วยกับประกาศมัสต์ แฮฟ เพราะมองว่าจะทำให้กลไกทางการตลาดเสีย แต่เนื่องจากมีการประกาศออกมาบังคับใช้แล้ว ทางบริษัทฯ จึงยอมรับตามประกาศฯ โดยมีการยื่นขอความเป็นธรรมฟ้องร้องศาลปกครองแค่ไม่ให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง
สำหรับกรณีที่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) มีหนังสือขออนุญาต กสทช. เพื่อขออนุญาตเผยแพร่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ผ่านบริการโทรทัศน์ช่องทางอื่น ที่ไม่ใช่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) นั้น ทางบริษัทฯ มีความคิดเห็นดังนี้ 1.การแข่งขันเอเชียนเกมส์ถือเป็นรายการโทรทัศน์สำคัญที่เผยแพร่ได้เฉพาะในฟรีทีวีเท่านั้นตามหลักประกาศมัสต์แฮฟ ซึ่งนิยามของฟรีทีวีในปัจจุบันหมายถึงช่องดิจิตอล รวมถึงช่องอนาล็อกที่ออกอากาศคู่ขนานกับช่องดิจิตอล อันได้แก่ ช่อง 5. ช่อง 7, ช่อง 9, ช่อง NBT และช่องไทยพีบีเอส
2.การขออนุญาตถ่ายทอดสดผ่านบริการโทรทัศน์ช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ฟรีทีวี อันได้แก่ ช่องดาวเทียม รวมถึงช่องอนาล็อกที่ไม่ได้ออกอากาศคู่ขนานกับดิจิตอล ต้องเป็นการถ่ายทอดสดแบบคู่ขนานกับฟรีทีวีเท่านั้น หาก กสท. จะพิจารณาอนุญาตต้องใช้ดุลยพินิจในการอนุญาตอย่างรอบคอบ มีเหตุผลชัดเจน และเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และความเสมอภาคในการประกอบกิจการ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานในการใช้ดุลยพินิจต่อไปในอนาคต
และ 3.หากจะขออนุญาตถ่ายทอดสดถ่ายบริการโทรทัศน์ช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ฟรีทีวี อันได้แก่ ช่องดาวเทียม รวมถึงช่องอนาล็อกที่ไม่ได้ออกอากาศคู่ขนานกับดิจิตอล โดยนำการแข่งขันฯ ในส่วนที่ไม่ได้ถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี แต่จะนำมาถ่ายทอดสดทางบริการโทรทัศน์ช่องทางอื่น กสท.ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอนุญาตได้ เพราะขัดกับหลักประกาศมัสต์แฮฟ ซึ่งกสท. เป็นผู้กำกับดูแลพึงจะต้องปฎิบัติตามกฎ ระเบียบที่ตนเองสร้างขึ้นอย่างเคร่งครัด หากฝืนใช้ดุลยพินิจอนุญาตย่อมเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา
“ถ้าจะบอกว่าไม่มีใครจะรู้ซึ้งกับปัญหาของประกาศมัสต์แฮฟเท่ากับอาร์เอสก็คงไม่ผิด มาวันนี้ กสทช. ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศฉบับนี้ก็จะได้ตระหนักด้วยตนเอง ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นด้วยกับประกาศมัสต์แฮฟ แต่เมื่อท่านประกาศมาบังคับใช้แล้ว เราก็ยอมรับมันตอนที่ฟ้องศาลปกครองก็แค่ฟ้องว่าไม่ควรบังคับใช้ย้อนหลัง ดังนั้น ในฐานะผู้ออกกฎและบังคับใช้ วันนี้ กสทช. จะได้เข้าใจว่าแก่นของปัญหาของประกาศมัสต์แฮฟมันคืออะไร” นางพรพรรณ กล่าว