กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--TMB Analytics
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง การทำธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซ อนาคตสดใส มีปัจจัยบวกจากยอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่ยังขยายตัวได้อีกมาก แนะธุรกิจ SMEs ไม่ควรมองข้ามช่องทางนี้
การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกสั้นๆ อีคอมเมิร์ซ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในปัจจุบัน ด้วยความง่าย สะดวกรวดเร็ว ประหยัด ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ อีกทั้งการสื่อสารยุค 3G และจะเข้าสู่ 4G ในอนาคต ที่ทำให้เข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตง่ายขึ้นจากมือถือสมาร์ทโฟนและแทปเล็ต ทำให้ผู้ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติและสังคมแห่งชาติ พบว่า จำนวนผู้ซื้อสินค้าและบริการผ่านอีคอมเมิร์ซในปี 2556 มีประมาณ 9.62 แสนคน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 4.07 แสนคนเมื่อปี 2552 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18.7 ต่อปี มูลค่าการซื้อขายประมาณ 1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในระยะเวลาเพียง 5 ปี
แม้ว่าจำนวนผู้ซื้อและมูลค่าซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซจะขยายตัวสูงมาหลายปี การค้าผ่านอีคอมเมิร์ซของไทยก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับตลาดของเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปหรืออียู ที่มีจำนวนผู้ซื้อกว่า 264 ล้านคนหรือร้อยละ 32 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ซื้อเพียงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น
ดังนั้น การทำธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซของไทย ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากการเพิ่มจำนวนผู้ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซหน้าใหม่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว คือ การเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตและระบบ 3G ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะก้าวเข้าสู่ยุค 4G ในระยะต่อไป เห็นได้จากยอดการใช้สมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันมีใช้อยู่ราวกว่า 22 ล้านเครื่อง เมื่อเทียบกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband internet) ที่มีอยู่เพียงร้อยละ 7 ของประชากร และได้แรงหนุนจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่นิยมอย่างกว้างขวาง และค่านิยมสินค้าจากต่างประเทศรวมถึงบริการต่างๆ เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า การบริการท่องเที่ยวและความบันเทิง เป็นต้น เราคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้จำนวนผู้ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-15 ต่อปี
สินค้าและบริการที่มีการซื้อจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ร้อยละ 34 เป็นสินค้ากลุ่ม แฟชั่น เสื้อผ้า และเครื่องประดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยตามความนิยม รองลงมาคือกลุ่มบริการด้านต่างๆ เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน ห้องพัก ส่วนลดต่างๆร้อยละ 12 กลุ่มที่ 3 คือ สินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ร้อยละ 11
ช่องทางการค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซจึงเรียกได้ว่ามีช่องว่างและโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่ง SME ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากสินค้าและบริการจำนวนมาก SME ก็เป็นผู้ผลิตหรือผู้ขายอยู่แล้ว จึงสามารถต่อยอดจากธุรกิจเดิมได้เลย ไม่ว่าลักษณะของธุรกิจจะเป็นผู้ผลิต ผู้ค้าปลีกค้าส่ง หรือธุรกิจบริการ การเริ่มค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซก็ไม่ยาก ลงทุนและใช้คนน้อย แต่สามารถสร้างช่องทางการขายสินค้าและบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SME ได้อีกมาก