กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 10 กันยายน 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,003 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และการออกหลักเกณฑ์ใหม่การให้กู้ยืมกองทุนฯ โดยจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ใน ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไปอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.1
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.79 ระบุว่า รู้จักบ้าง รองลงมา ร้อยละ 39.54 ระบุว่า รู้จักดี ร้อยละ 12.53 ระบุว่า ไม่รู้จักเลย และร้อยละ 8.14 ระบุว่า ไม่ค่อยรู้จัก
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อหลักเกณฑ์ใหม่การให้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ให้ผู้กู้ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 2.00 และต้องมีหลักฐานแสดงถึงการเข้าร่วมโครงการจิตอาสา ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ พบว่า ในจำนวนประชาชนที่รู้จักดีและรู้จักบ้าง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.46 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ทำให้เด็กมีความกระตือรือร้น ขยันตั้งใจเรียนและมีส่วนช่วยเหลือให้กับสังคมมากขึ้น และเพื่อให้สมกับเป็นการกู้ยืมเพื่อการศึกษาจริง ๆ เนื่องจากบางคนกู้ยืมไปแต่มิได้นำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา แต่กลับนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นแทน และยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของการค้างชำระจากการกู้ยืม รองลงมา ร้อยละ 21.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการปิดกั้นโอกาสทำให้เด็กบางคนที่เรียนไม่เก่ง มีผลการเรียนไม่ถึง 2.00 อยากเรียนแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จริง ๆ เสียโอกาสไปด้วย แต่สำหรับการแสดงหลักฐานถึงการเข้าร่วมโครงการจิตอาสาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศนั้นไม่เห็นด้วย เนื่องจากเด็กยังต้องรับผิดชอบในเรื่องเรียน หรือช่วยทางบ้านทำงาน หากเป็นระดับอุดมศึกษา ก็จะทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย อาจทำให้ไม่มีเวลาในการ เข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการต่าง ๆ ร้อยละ 3.46 ระบุว่า ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อหลักเกณฑ์ใหม่การให้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ให้ผู้กู้ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 2.00 และต้องมีหลักฐานแสดงถึงการเข้าร่วมโครงการจิตอาสา ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ที่บังคับใช้เฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อนุปริญญา/ปริญญาตรี และผู้กู้รายเก่า แต่ไม่บังคับใช้กับผู้กู้ในระดับ ปวช. ปวท. ปวส. (อาชีวศึกษา) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.37 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ควรมีสิทธิกู้ยืมได้เหมือนกัน เพราะบางคนขาดแคลนทุนทรัพย์จริง ๆ ควรมีมาตรฐานเดียวกัน และใช้เกณฑ์พิจารณาให้เท่าเทียมกันทั้งสายสามัญและสายอาชีวะ รองลงมา ร้อยละ 32.66 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในสายอาชีวะ เนื่องจากแรงงาน/บุคลากรที่จบด้านสายอาชีวะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรียนสายสามัญมากกว่า อีกทั้งเนื้อหาหรือหลักสูตรของการเรียนการสอนของสายสามัญและอาชีวะ มีความแตกต่างกัน และ ร้อยละ 3.97 ไม่ระบุ /ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 20.47 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 20.07 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 20.02 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ร้อยละ 52.72 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 47.23 เป็นเพศหญิง และ ร้อยละ 0.05 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 20.83 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และ ร้อยละ 79.17 มีอายุ 25 – 35 ปี
ตัวอย่างร้อยละ 91.70 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 7.14 นับถือศาสนาอิสลาม และ ร้อยละ 1.16 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 57.87 สถานภาพโสด ร้อยละ 41.38 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 0.75 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 6.39 ระบุว่าจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.96 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 13.14 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 44.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.94 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 14.73 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 30.51 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.47 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 5.60 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.92 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 5.55 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ร้อยละ 9.23 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 13.23 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 17.52 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 36.99 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.08 มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.69 มีรายได้ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.39 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 9.09 ไม่ระบุรายได้