ทริสเรทติ้งร่วมกับ Standard & Poor’s จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Thailand’s Banking Outlook and Hybrid Capital under BASEL III”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 11, 2014 14:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ร่วมกับบริษัท Standard & Poor’s Ratings Services จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Thailand’s Banking Outlook and Hybrid Capital under BASEL III” ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ งานสัมมนาร่วมดังกล่าว เป็นการย้ำถึงความร่วมมือกันทางธุรกิจของสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งสองภายหลังจากที่ Standard and Poor’s ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทริสเรทติ้ง ตั้งแต่ปลายปี 2554 ในงานสัมมนา Mr. Kim Eng Tan ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าทีมจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของ Standard & Poor’s ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ว่ามีปัจจัยสนับสนุนจากภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่ง หนี้ภาครัฐที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตของประเทศไทยยังถูกจำกัดจากภาวะทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน และระดับรายได้ของประชาชนที่ยังค่อนข้างต่ำ ภาวะการเมืองของประเทศไทยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้พื้นฐานด้านเครดิตของประเทศไทยอ่อนแอลง อันอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการคลัง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการพัฒนาประเทศ Ms. Geeta Chugh ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของ Standard & Poor’s ได้สรุปความเสี่ยงที่สำคัญ และแนวโน้มของภาคสถาบันการเงินของไทย ว่าความเสี่ยงด้านเครดิตมีแนวโน้มคงที่ (Stable) และเชื่อว่าปัญหาทางการเมืองของไทยจะต้องใช้เวลานานพอควรในการแก้ไข ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยในอนาคต อย่างไรก็ดี ธนาคารในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตส่วนมากมีการดำรงระดับเงินกองทุนที่เพียงพอ และมีระดับของรายได้ที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตที่ได้รับอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารเหล่านี้อยู่ในสถานะที่เข้มแข็งต่อไปถึงปีหน้า ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนา คุณไรทิวา นฤมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ตามเกณฑ์ BASEL III ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยน่าจะมีความต้องการออกตราสารหนี้คล้ายทุนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนตามแนวทางที่ถูกกำหนดในหลักเกณฑ์ใหม่ นอกจากนี้ คุณไรทิวา ยังได้บรรยายสรุปถึงวิธีการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง สำหรับตราสารหนี้คล้ายทุน ภายใต้หลักเกณฑ์ BASEL III โดยสรุปว่าอันดับเครดิตของตราสารหนี้คล้ายทุนจะสะท้อนความเสี่ยงจากคุณสมบัติของตราสารประเภทนี้ที่จะมีลักษณะด้อยสิทธิ รวมทั้งเงื่อนไขของการรองรับผลขาดทุน (Loss absorption) ซึ่งจะทำให้ผู้ถือตราสารหนี้คล้ายทุนมีความเสี่ยงของการไม่ได้รับดอกเบี้ย และ/หรือ เงินต้นคืนตามจำนวนที่ระบุไว้ สูงกว่าความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ (Default risk) ของตราสารหนี้โดยทั่วไปของผู้ออกตราสาร จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อันดับเครดิตตราสารหนี้คล้ายทุน ต่ำกว่าอันดับเครดิตโดยพื้นฐานของผู้ออกตราสาร (Issuer standalone rating) ทั้งนี้ ตราสารหนี้คล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะมีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า Issuer Standalone Rating ประมาณ 4 ระดับ และ ตราสารหนี้คล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จะมีอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า Issuer Standalone Rating ประมาณ 2 ระดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ