กรุงเทพ--31 มี.ค.--สมาคมวิศวกรยานยนต์ไทย
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและนโยบายของประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา กว่า 200 คน เข้าร่วมการประชุมอุตสาหกรรมยานยนต์ และสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งใหญ่ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการขนส่งบนท้องถนน ที่ไทยกำลังประสบอย่างรุนแรงในทุกวันนี้
"การสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย" หรือ Thailadn Automotive Conference ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม ถึง 1 เมษายนนี้ จะเป็นเวทีชุมนุมผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมยานยนต์ รัฐบาล และนักวิชาการ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย 4 หัวข้อหลัก คือ 1) ระบบสาธารณูปโภคภาคขนส่ง, 2) เชื้อเพลิง พลังงาน ไอเสียรถยนต์ และคุณภาพอากาศ, 3) การประสานมาตรฐานต่างๆ, และ 4) กลยุทธ์และนโยบายยานยนต์แห่งชาติ
ดร.จอห์น แมคเท รองประธานฝ่ายเทคโนโลยี บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด และประธานร่วมกิตติมศักดิ์ของงานดังกล่าว เปิดเผยว่า "ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมุ่งเน้นแสวงหาวิธีที่ได้ผล ในการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และการบริหารทรัพยากรพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาอุปสรรคทั่วไป ที่พบในตลาดที่กำลังขยายตัวเกือบทุกตลาด"
ฟอร์ด และเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น รับเป็นผู้สนับสนุนหลักในการประชุม ซึ่งจัดโดยสมาคมวิศวกรยานยนต์นานาชาติ หรือ SAE International จากสหรัฐอเมริกาและสมาคมวิศวกรยานยนต์แห่งประเทศไทย
ดร.จอห์น กล่าวย้ำว่าหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าปัญหาการจราจรติดขัด เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อผลผลิต และสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองใหญ่ โดยรายงานการสำรวจของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ คาดว่าประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศถึง 30% หากแก้ปัญหาการจราจรให้ลุล่วงไปได้
ทั้งฟอร์ดและจีเอ็มได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ขึ้นในประเทศไทย โดยฟอร์ดจะเริ่มผลิตรถปิกอัพขนาดเล็ก ที่โรงงานจังหวัดระยองในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนจีเอ็มเตรียมผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กหนึ่งรุ่น
มร.เคนเนธ เบเกอร์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกของจีเอ็ม ซึ่งเป็นประธานร่วมกิตติมศักดิ์ของงาน กล่าวว่า "จีเอ็มอยู่ในระหว่างการทุ่มทุนจำนวนมากในประเทศไทย และยืนหยัดที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักของเรา ก็คือการพัฒนาข้อเสนอแนะด้านเทคนิคและนโยบาย เพื่อให้รัฐบาลไทยนำไปใช้ในการวางแผน พัฒนา จัดระบบการขนส่งและการเดินทางของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นหลังปี 2543 หรือปี ค.ศ. 2000"
ในประเด็นดังกล่าว มร.รอน เลียวนาร์ด ประธานสมาคมวิศวกรยานยนต์นานาชาติ กล่าวเสริมว่า "การประชุมครั้งนี้ มีความสำคัญหลายด้านด้วยกัน กล่าวคือในประการแรกนั้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ได้ร่วมกันหารือในปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภคภาคยานยนต์ และประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จนถึงการพัฒนามาตรฐานระดับพื้นฐาน และด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร ประการที่สอง จะเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคด้วย
"ประการสุดท้าย การประชุมครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ เช่นประเทศไทย ได้รับทราบปัญหาที่อุตสาหกรรมยานยนต์ประสบอยู่ในปัจจุบัน เพื่อก้าวกระโดดสู่วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้นในอนาคต"
สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย อาทิ ดร.หริส สูตะบุตร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะแลวัสดุแห่งชาติ, นายจักก์ชัย พาณิชพัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่วนผู้แทนฟอร์ดและจีเอ็ม ประกอบด้วย มิสเฮเลน เปทรอสกาส รองประธานฝ่ายวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด, มร.โรนัลด์ ฟริซเซลล์ ประธานบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย และมร.เดวิส สไนเดอร์ ประธานบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ประเทศไทย
โดยงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ จะมีประธานร่วม ได้แก ดร.ไท ชาน จากจีเอ็ม, ดร.เดนนิส ชูตเซิล จากฟอร์ด, รองศาสตราจารย์พูลพร แสงบางปลา จากสมาคมมาตรฐานไทย และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นอกจากฟอร์ดและจีเอ็มแล้ว กลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้เข้าร่วมสับสนุนการประชุมครั้งนี้ อาทิ บริษัท 3 เอ็ม ออโตโมตีฟ, บริษัทวิสเทออน, บริษัทเดลฟาย ออโตโมตีฟ ซิสเต็มส์, บริษัทเอนเจิลฮาร์ด, บริษัทจอห์นสัน แมทธีย์, บริษัทเลียร์ คอร์ปอเรชั่น และบริษัทลูบริซอล เป็นต้น
สำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนการประฃุมฝ่ายไทย ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ, กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม, สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสมาคมมาตรฐานไทย
ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการนำ "รถฟอร์ด เรนเจอร์ 4x4" รุ่นปี 1998 ขับเคลื่อนสี่ล้อใช้เชื้อเพลิงหลากชนิด และ "รถโอเปิล โมเมกา" รุ่นปี 1998 ของจีเอ็ม ออกโชว์ในงาน พร้อมเน้นโชว์เทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย อาทิ:-
ฟอร์ด จะแสดงระบบเชื้อเพลิงสับเปลี่ยนกันระหว่าง "อีธานอล และเมธานอล"
วิสเทออน จะโชว์ "ระบบควบคุมรถยนต์ด้วยคอมพิวเตอร์" อาทิ ระบบควบคุมส่วนหน้ารถยนต์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากวิสเทออน พร้อมสาธิต "ระบบควบคุมรถยนต์ที่สั่งด้วยสัญญาณเสียง"
เดลฟาย ออโตโมตีฟ ซิสเต็มส์ จะแสดงระบบบริหารเครื่องยนต์ และระบบลดการปล่อยไอเสีย
จีเอ็ม จะแสดงระบบความปลอดภัย "ออนสตาร์" ซึ่งเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ครบวงจรที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีระบบชี้ตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม หรือ GPS และโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถติดต่อสื่อสารของความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เอนเจิลฮาร์ด จะแสดงอุปกรณ์และระบบฟอกลดไอเสีย สำหรับรถยนต์นั่ง มอเตอร์ไซค์ รถยนต์สามล้อ รถบรรทุก และรถโดยสาร--จบ--