กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอเชิญผู้สนใจร่วมเสวนา "ค้นหาตัวตน ณ ไกรลาศ ค้นพบสัจธรรม ณ กูเก" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเปิดตัวหนังสือใหม่ "ซกเช็น วิถีแห่งการตื่นรู้" ร่วมเดินทางจาริกบุญสู่หลังคาโลกและศูนย์กลางของจักรวาลพร้อมกับวิทยากรพิเศษหลายท่านวันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2557 เวลา 08.45 - 16.00 น.อาคารสถาบัน 3 (หลังศูนย์หนังสือจุฬา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประสงค์ลงทะเบียน โปรดคลิก
https://docs.google.com/forms/d/1JNrOgSGzr3bMYJ_jmt1PQCbp2N87XLkjPHli6fjIuDQ/viewform?c=0&w=1&usp=mail_form_link
*ไม่มีค่าใช้จ่าย * แต่เพื่อความสะดวกในการจัดเตรียมของว่างและเครื่องดื่ม ขอความกรุณาลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า หรือ โทรแจ้งที่มูลนิธิ 083-300-8119 หรือ 087-8299-387 รวมทั้งในกรณีที่มีความเปลี่ยนแปลง หลังลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่อาจมาร่วมได้
ผู้ร่วมเสวนา
คุณรอน แรมทาง หรือ คุณสมศักดิ์ อมรรัตนเสรีกุล นักเขียน ช่างภาพ นักเดินทาง คนทำสารคดีรุ่นใหญ่ผู้มีศรัทธาในการเดินทาง และเป็นหนึ่งใน ‘12 ฅนค้นโลก’ ของรายการคนค้นฅนที่จะไปถ่ายทำที่ทิเบตในเดือนตุลาคมนี้ คุณรอนเป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องพลังมนตร์ขลังของทิเบตหลังคาโลก เรียกได้ว่าสัญจรวนเวียนอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัยเกือบทุกซอกมุมติดต่อกันมาหลายปี มีผลงานหนังสือภาพถ่ายสารคดี “มณฑลหลังคาโลก” และอีกเล่มที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ คือ "แชงกรี-ล่า : ตำนาน...ความหมาย...และการเดินทาง"
รศ.ดร. กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล อาจารย์สอนคอร์สภาวนาด้านพุทธวัชรยาน ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิพันดารา เป็นทั้งนักจาริกแสวงบุญและนักวิชาการทิเบตศึกษาที่ได้เดินทางในทิเบตกว่า 50 ครั้ง อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้น้อมรับและเดินทางเข้าสู่พระพุทธศาสนาทิเบต ผ่านการปฏิบัติธรรมตลอดเวลากว่า 10 ปีและได้ก่อตั้งมูลนิธิพันดาราขึ้นเมื่อปี 2548 เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานศึกษาวิจัยและเผยแพร่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทิเบตหิมาลัย โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้เกิดสันติภาพในโลกบนพื้นฐานของความเมตตากรุณา ส่งเสริมศิลปะ ภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม การปฏิบัติธรรม และการดูแลสิ่งแวดล้อม การงานสำคัญของอ.กฤษดาวรรณภายใต้มูลนิธิพันดาราคือการสร้างศูนย์ขทิรวัน สถานปฏิบัติธรรมและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมทิเบตหิมาลัยที่ ต. หนองพลับ อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์
อาจารย์มิว เยินเต็น เป็นชาวทิเบตจากแคว้นอัมโด ผู้เติบโตในสังคมแห่งการจาริกแสวงบุญ ได้มีโอกาสบวชเรียนตั้งแต่เด็กๆ เป็นเวลาถึง 27 ปี โดยได้ศึกษาเล่าเรียนกับคุรุอาจารย์สำคัญ อ.เยินเต็นตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพื่อช่วยอ.กฤษดาวรรณในการสร้างศูนย์ขทิรวันและดำเนินโครงการพระศานติตารามหาสถูป เขาพูดเสมอว่า คนแบบเขาในทิเบตมีเป็นจำนวนมาก แต่ในเมืองไทยไม่มี เพราะที่นี่ต้องการศิลปะและจิตวิญญาณแบบทิเบต อ.เยินเต็นจึงจากบ้านเกิดจากหลังคาโลกมาใช้ชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมและทำงานทางธรรมบนที่ราบลุ่มในประเทศไทย
กลุ่มนักเดินทางที่เพิ่งกลับมาจากไกรลาสที่จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดที่ได้จากการเดินทางจาริกในครั้งนี้ ด้วยมุมมองที่หลากหลาย การเดินทางด้วยระยะทางค่อนทวีปเอเชียและไม่สะดวกสบายมากนัก บนความสูงระดับหลังคาโลกเกือบสามสัปดาห์ พวกเขาค้นหาและได้ค้นพบอะไรที่อาจมีผลสั่นสะเทือนถึงวิธีคิดและการดำเนินชีวิตของพวกเขาไปตลอด