กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กสส.เปิดเวทีขยายองค์ความรู้ขบวนการสหกรณ์ให้แก่กลุ่มเกษตรกร ผ่านผู้นำเกษตรกร เป้าหมายการผลิตโดยลดต้นทุน รวมขาย การบริหารจัดการและการลงทุนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนากว่า 250 คน จากทั่วประเทศ
ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนากรรมการกลางกลุ่มเกษตรกร ณ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ที่มีอาชีพด้านการเกษตรหลายอย่างสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นกึ่งอุตสาหกรรมการเกษตรได้
กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงมีนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในการผลิต การถ่ายทอดประสบการณ์ ระหว่างกันภายใต้แนวทางการพึ่งตนเอง และการทำการตลาดเพื่อการขายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ที่เกษตรกรจะพึงได้รับอย่างเต็มที่ โดยการเพิ่มเติมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าการเกษตรได้อย่างครบวงจร ตลอดจนส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานของประเทศ และสามารถก้าวสู่ความเป็นสากลได้ในโอกาสอันใกล้นี้
“ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนการเสริมสร้างประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อเป็นพลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือพัฒนาองค์ความรู้ ขยายกิจการภายใต้ภูมิคุ้มกันที่ดี ยึดการพึ่งตนเองและลดต้นทุนในการทำการผลิต อันจะนำมาซึ่งความกินดี อยู่ดีในหมู่เกษตรกรทั่วประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน”ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การทำให้เกิดความเข้มแข็งในกลุ่มเกษตรกรขึ้นมานั้น อันดับแรกจะต้องมีการให้องค์ความรู้เรื่องประโยชน์ของการรวมกลุ่ม ภายใต้กฎระเบียบความซื่อสัตย์ ตลอดถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน วิธีการเชื่อมโยงผลผลิต ให้เข้าถึงและเข้าใจในช่องทางการตลาด เพื่อให้ธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องอันจะทำให้ธุรกิจของเกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ที่เกษตรกรพึงจะได้รับ หากมีการพัฒนาการรวมตัวกันและดำเนินกิจการ ใช้รูปแบบสหกรณ์ ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรสามารถเข้าถึงวิธีการสหกรณ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป
ทางด้านนายวีรชัย ศิริวรรณางกูล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2498 มีชื่อเรียกว่า กลุ่มชาวนา ภายใต้การส่งเสริมของรัฐบาล โดยให้มีการจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐานแต่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มเกษตรกร ครอบคลุมอาชีพการเกษตรทุกสาขา และมีกฏหมายรับรองให้เป็นนิติบุคคล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 และในปี 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 140,141 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2515 ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรให้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและสามารถดำเนินธุรกิจต่างๆ ได้ ต่อมาได้มีการแก้ไขอีกครั้งตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 140,141 และมีพระราชกฤษฎีการว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ.2547 ขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2547 เพื่อรองรับการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกร
ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มเกษตรกรในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,111 กลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 621,798 คนมูลค่าธุรกิจโดยรวม 12,960.08 ล้านบาท โดยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรให้สามารถมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ขยายธุรกิจตอบสนองความต้องการของสมาชิกและตลาด ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงและเจริญก้าวหน้าให้กลุ่มเกษตรกร ย่อมที่จะเกิดประโยชน์ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม
ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงจัดให้มีการสัมมนากรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรขึ้น เพื่อให้ผู้นำกลุ่มเกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ได้รับทราบนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยการสัมมนาครั้งนี้มีประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรระดับจังหวัดทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จังหวัด/พื้นที่ สมาชิกกลุ่มเกษตรกร เจ้าหน้าที่โครงการและผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมประชุมสัมมนา กว่า 250 คน