กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เร่งนำเสนอแนวคิด พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเป็นทางออกการแก้ปัญหา และป้องกันการคอร์รัปชัน พร้อมสร้างความโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนของภาครัฐให้ได้ประโยชน์คุ้มค่าสูบสุดแบบยั่งยืน
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า " การให้บริการประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่ผ่านมาได้มีตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการให้บริการประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การทำบัตรประชาชน การทำใบขับขี่ การทำพาสปอร์ต เป็นต้น แต่ก็พบว่ากระบวนงานที่ประชาชนต้องติดต่อใช้บริการยังมีมากกว่า 3,000 เรื่อง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำลังดำเนินการร่วมกับองค์กรภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐระดับกรม 40 แห่ง นำกระบวนงานที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจ จำนวน 43 กระบวนงาน เช่น งานของกรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมที่ดิน เป็นต้น มาศึกษาเพื่อจัดทำ “ข้อตกลงมาตรฐานในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใส (Service Level Agreement)” โดยมีความก้าวหน้าอย่างมาก เพื่อให้การแก้ปัญหาเหล่านี้รวดเร็วและยั่งยืน จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการตรา พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. .... โดยกฏหมายนี้ต้องครอบคลุมและมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี"
ดังนั้นเพื่อให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง และเกิดคุณค่าสูงสุดตามที่ประชาชนมุ่งหวัง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้มีการศึกษาและเสนอข้อเสนอข้อคิดเห็นเพื่อเป็นทางออกการแก้ปัญหาและป้องกันการคอร์รัปชัน และสร้างความโปร่งใส ในประเด็นของหลักการของกฎหมาย “หลักการ” ของ พ.ร.บ. นี้นอกจากเพื่ออำนวยความสะดวกแล้ว ควรเพิ่มเติม “ให้เป็นไปเพื่อการป้องกันการคอร์รัปชัน” ด้วย และคำนิยาม ในการยื่นขอใบอนุญาตมักมีข้อกำหนดให้ยื่นเอกสารประกอบการพิจารณา แต่พบว่าเอกสารที่เป็นเงื่อนไขให้ยื่นประกอบนั้น ยังมีความยุ่งยาก ซับซ้อน เช่น การจัดทำ EIA ดังนั้นเพื่อให้บรรลุหลักการของกฏหมายจึงสมควรให้มีการพิจารณาทบทวนครอบคลุมไปด้วยพร้อมกัน ดังนั้น “อนุญาต” ให้หมายรวมถึง งานหรือภาระที่ประชาชนต้องกระทำเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ตามเงื่อนไขของการยื่นขอใบอนุญาต “ผู้อนุญาต” ให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจในการจัดทำหรือให้บริการ งานหรือภาระที่ประชาชนต้องกระทำเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ตามเงื่อนไขของการยื่นขอใบอนุญาต
และเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง / เพิ่มเติม หรือสาระที่ต้องการให้มีการทบทวน ได้แก่ 1) ให้นำมาตรการมาใช้ทันทีเมื่อเริ่มประกาศใช้ พ.ร.บ. เพื่อบังคับให้มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างผู้อนุญาตกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันในการแก้ไข/ตัดทอน หลักเกณฑ์ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการยื่นขอใบอนุญาตที่มีมากไปหรือไม่เหมาะสมกับเทคโนโลยีและสังคมในปัจจุบัน 2) ให้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต ทันทีเมื่อ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ 3) เสนอให้เพิ่มข้อความในมาตรา ๖ ย่อหน้าแรกเป็น “ทุกห้าปี นับแต่วันที่ที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้อนุญาตพิจารณาโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ว่าสมควรจะปรับปรุงกฏหมายที่ให้อำนาจในการอนุญาต ว่าสมควรปรับปรุงกฎหมายนั้นเพื่อยกเลิกการอนุญาตหรือปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาตหรือไม่”
"อีกทั้งพ.ร.บ.ฉบับนี้ควรบัญญัติโดยชัดแจ้งว่า “ต้องมีการลดอำนาจในการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการพิจารณาอนุญาต แต่ให้เป็นไปตามข้อมูลและกฏเกณ์ที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว” และกำหนดให้มีการทบทวนวิธีการ เงื่อนไข เอกสารหรือข้อมูลประกอบการยื่นขออนุญาต เนื่องจากปัจจุบันมีกฏระเบีบเหล่านี้มากมายที่ล้าสมัย ควรมีการกำหนดบทลงโทษ โดยให้ถือเป็นกฏเกณฑ์ที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. จะใช้อำนาจเข้ามาตรวจสอบ ลงโทษ ให้หลีกเลี่ยงความพยายามใดๆ ในการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ หรือ ปล่อยให้มีจำนวนหน่วย งานและผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารเพื่ออนุมัติใบอนุญาตเรื่องหนึ่งๆ มากเกินจำเป็น และการดำเนินการเรื่องนี้ ต้องมีการพิจารณาโดยคำนึงถึงมิติของ “การกระจายอำนาจ” “การปกป้องชุมชนและสิทธิชุมชน” “การรักษาสิ่งแวดล้อม” “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” “การพัฒนาเศรษฐกิจ” “การป้องกันคอร์รัปชันทั้งจากผู้อนุญาตและผู้ขออนุญาตทั้งสุจริตและทุจริต โดยให้นำแนวทาง ข้อตกลงมาตรฐานในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใส (Service Level Agreement) ที่ สำนักงาน ก.พ.ร. กำลังดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน มาเป็นแนวทางในการปรับปรุงกระบวนงานตาม พ.ร.บ.นี้
"ประโยชน์ของ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ นี้ จะช่วยอำนวยความสะดวก ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งเป็นการลดเงื่อนไขที่นำไปสู่การเรียกรับสินบน ของข้าราชการ จากประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจ ลดเงื่อนไขที่สร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันทางการค้า ช่วยให้สามารถใช้ศักยภาพของระบบสารสนเทศ ที่รัฐได้ลงทุนไปแล้วในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 4 พันล้านบาทอย่างคุ้มค่า และสร้างความน่าเชื่อถือในการติดต่อลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ" ดร.มานะ กล่าวสรุป