กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาเก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
ในโอกาสครบรอบ 25 ปี โครงการปลูกถ่ายไขกระดูก โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดงานประชุมวิชาการ “25 ปี ปลูกถ่ายไขกระดูก โรงพยาบาลรามาธิบดี” เมื่อวันที่ 23-24 สิงหาคม 2557 เพื่อประมวลความก้าวหน้าด้านการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทย การประชุมครั้งนี้ยังถือเป็นการคืนสู่เหย้าของเหล่าผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่าย ไขกระดูกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จนหายป่วยและสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ โดยคณะแพทย์ผู้ให้การรักษา ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รวมถึงพยาบาลผู้ดูแล ต่างทักทายและโอบกอดกันอย่างมีความสุขเหมือนคนในครอบครัว ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่น เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่แสดงถึงความผูกพันระหว่างกัน อดีตผู้ป่วยเหล่านี้ยังได้แสดงความสามารถพิเศษ เช่น การรำไทย การแสดงเดี่ยวเปียโน การเต้นประกอบเพลง ตลอดจนร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์อีกด้วย
“การปลูกถ่ายไขกระดูกเปรียบเสมือนการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังครั้งใหม่ให้ชีวิต” หนึ่งเสียงจากผู้ป่วยที่มาร่วมงาน ที่ทำให้ตระหนักและซาบซึ้งเป็นอย่างดีถึงคุณค่าของการมีชีวิตที่กลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกได้รับภายหลังการรักษา ซึ่งฟังดูแล้ววิธีการรักษานี้อาจเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้ป่วย แต่แท้จริงแล้ววิทยาการด้านการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้นยืนหยัดรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดีมาแล้วยาวนานกว่าสองทศวรรษ
ด้าน รศ.นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และในฐานะประธานการจัดงานในครั้งนี้ กล่าวว่า “การปลูกถ่ายจะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาจากผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้กับของผู้ป่วย ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วต้องทานยากดภูมิต้านทานไปอีกประมาณ 6-12 เดือน จึงจะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ต้องกลับมาเช็คสภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน”
หนึ่งในผู้ป่วยที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของการได้รับชีวิตใหม่จากวิทยาการด้านการปลูกถ่ายไขกระดูก คือ คุณลุงโย บุญใส ดวงศรี อายุ 51 ปี ชาวอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คุณลุงเล่าว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2549 ตนเองรู้สึกอ่อนเพลีย จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แพทย์ได้ทำการรักษาโดยเจาะเอาไขกระดูกไปตรวจ และพบว่าเป็นโรคไขกระดูกฝ่อ จึงส่งตัวคุณลุงมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
คุณลุงกล่าวว่า “ผมโชคดีมากที่มีโครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเทิดไท้คู่ขวัญองค์ราชันราชินีของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ซึ่งผมเป็นหนึ่งในผู้ป่วย 80 รายที่โครงการนี้ให้การช่วยเหลือและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ผมรู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่ เพราะถ้าในวันนั้นผมไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ ผมคงไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่ผมรักถึงทุกวันนี้ และทำให้ผมมีความหวังว่าอยากจะมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการให้แก่ผู้อื่นต่อไปครับ”
อดีตผู้ป่วยอีกคนหนึ่งคือ น้องนกน้อย ด.ญ.นฤมล โอชา อายุ 9 ปี เล่าว่า “หนูได้ชีวิตใหม่ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกในโครงการจากพี่สู่น้อง โดยได้รับเนื้อเยื่อจากพี่สาว ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางคุณหมอและพยาบาลของโรงพยาบาลรามาธิบดี ในวันนี้หนูคงไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ขอบคุณมากๆ ค่ะ”
ทางด้าน ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา โครงการปลูกถ่ายไขกระดูกของ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการรักษาคนไข้ไปแล้วเกือบ 800 ราย โดยแบ่งเป็นคนไข้เด็กประมาณ 300 ราย และคนไข้ผู้ใหญ่อีกประมาณ 400-500 ราย ซึ่งเรามุ่งหวังที่จะเป็นโรงพยาบาลที่มอบความหวังให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและความเชี่ยวชาญในการปลูกถ่ายไขกระดูกมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถทำการรักษาได้ประมาณ 70-80 รายต่อปี ถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่สามารถรองรับการรักษาได้มากที่สุดของประเทศไทย”
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการปลูกถ่ายไขกระดูกคือ ค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ประมาณ 1-2 ล้านบาทต่อคน ซึ่งมีผู้ป่วยเพียง 20% เท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิต่างๆ มาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เช่น สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่อีกประมาณ 80% ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการรักษา ทำให้มูลนิธิรามาธิบดีฯ ต้องเข้ามาช่วยเหลือโดยผ่านโครงการระดมทุนต่างๆ ที่ได้รับความเมตตาจากผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งอาจต่อลมหายใจของผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายแรง…และคืนชีวิตให้พวกเขาเหล่านั้นกลับมามีความสุขได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น
“ผมเชื่อว่าไม่มีการช่วยเหลือใด จะได้บุญยิ่งใหญ่ไปกว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์” ศ.นพ.สุรเดช กล่าวปิดท้าย
ผู้สนใจร่วมบริจาคสามารถโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิรามาธิบดี (โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเทิดไท้คู่ขวัญองค์ราชันราชินี) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี เลขที่ 026-4-26671-5 และธนาคารกรุงเทพ สาขารามาธิบดี (อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์) เลขที่ 090-7-00123-4 หรือติดต่อมูลนิธิรามาธิบดีฯ 270 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2201-1111 หรือเว็บไซต์ www.ramafoundation.or.th ติดตามข่าวสารและช่องทางการทำบุญได้ที่ IG @ramafoundation, FB มูลนิธิรามาธิบดีฯ และ Twitter @ramafoundation1