กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อ การทำงานในรูปแบบ คสช. กับ การทำงานในรูปแบบรัฐบาล และความคิดเห็นต่อการจัดระเบียบชายหาด กับ ไมค์แพงที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 600 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 - 13 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยอมให้รัฐบาล คสช. เข้ามาดูแลบริหารประเทศ แทนรัฐบาลชุดก่อน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.3 ของแกนนำชุมชนระบุ ให้เข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 32.6 ระบุแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 7.4 ระบุแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รองๆ ลงไปคือ แก้ปัญหากลุ่มผู้มีอิทธิพล แก้ปัญหาการศึกษา และสาธารณสุข เป็นต้น
และจากการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่เสนอแนะให้รัฐบาล คสช. มุ่งเน้นช่วยให้คนในชาติลดความแตกแยกโดยเสริมสร้างความสนใจร่วมกันของคนในชุมชนเข้ามาเป็นตัวตั้งซึ่งแต่ละชุมชนจะมีความสนใจร่วมกันแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จึงไม่ควรใช้แนวทางปฏิบัติแบบเดียวกันทั้งประเทศโดยให้มีการศึกษาวิจัยความสนใจร่วมกันในแต่ละชุมชนก่อน จากนั้นชี้ให้เห็นว่า “ทำงานร่วมกันย่อมดีกว่า” เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน เช่น บางชุมชนสนใจเรื่องที่ทำกิน บางชุมชนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม บางชุมชนสนใจปัญหา ยาเสพติด บางชุมชนสนใจเรื่องการทำสหกรณ์ เป็นต้น
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.0 ต้องการให้มีการเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณทุกเม็ดเงินในโครงการขนาดใหญ่ให้ชาวบ้านทั่วไปแกะรอยตรวจสอบได้ละเอียดในสื่อมวลชนและเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึง สิ่งที่แกนนำชุมชนอยากบอกกับรัฐบาล คสช. ในเวลานี้มากที่สุด พบว่า ร้อยละ 27.5 อยากบอกให้ระวังหลุมพรางที่อยู่ในระบบราชการ ทำให้ล่าช้าต่อการแก้ปัญหาชาวบ้าน ในขณะที่ ร้อยละ 20.6 อยากบอกให้ระวังการหยิบยื่น อำนาจ เงินตรา นารี การยกย่องเชิดชูจากกลุ่มข้าราชการ นายทุน และคนแวดล้อม ร้อยละ 17.4 อยากบอกว่า ไม่มีเวลาฮันนีมูน หาความสุขจากตำแหน่ง แต่ให้ทำงานลงพื้นที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านทันที อย่างไรก็ตาม เพียงร้อยละ 34.5 ระบุไม่มีอะไรต้องบอก ทุกอย่างดีอยู่แล้ว
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อ รูปแบบการทำงานแบบ คสช. กับ รูปแบบการทำงานแบบ รัฐบาล ว่ารูปแบบไหน ดูดีกว่า ดูจริงจังมากกว่า ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.6 เลยทีเดียวที่ระบุว่า คิดว่า การทำงานแบบ คสช. ดูดีกว่า ดูจริงจังมากกว่า ในขณะที่ ร้อยละ 15.4 คิดว่า การทำงานแบบรัฐบาลดูดีกว่า ดูจริงจังกว่า
เมื่อสอบถามแกนนำชุมชนถึง การจัดระเบียบชายหาดตามนโยบายของ คสช. โดยถามถึงกรณีปัญหานักท่องเที่ยวถูกข่มขู่คุกคามให้จ่ายเงินในการนั่งเล่นที่ชายหาด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.6 ระบุเป็นการทำลายภาพลักษณ์ประเทศไทยมากถึงมากที่สุด โดยสิ่งที่แกนนำชุมชนอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นปรับปรุงในการจัดระเบียบชายหาด ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 ระบุการข่มขู่คุกคาม รีดไถนักท่องเที่ยว รองลงมาคือร้อยละ 78.7 ระบุปัญหาขยะ ร้อยละ 77.3 ระบุการควบคุมราคาอาหารและสินค้า ร้อยละ 58.7 ระบุการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ร้อยละ 57.3 ระบุสถานบันเทิงและผู้มีอิทธิพล รองๆ ลงไปคือ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครดูแลความปลอดภัย วินัยจราจร ความปลอดภัยในการลงเล่นน้ำทะเล การบุกรุกพื้นที่อุทยาน และกิจกรรมบันเทิง กีฬาชายหาด ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความพอใจของแกนนำชุมชนต่อการจัดระเบียบชายหาดตามนโยบายของ คสช. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 พอใจมากถึงมากที่สุด
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความรู้สึกของแกนนำชุมชนต่อ กรณีการซื้อไมโครโฟนราคาตัวละนับแสนบาทที่ทำเนียบรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า ก่ำกึ่งกันคือ ร้อยละ 50.8 รู้สึกเคลือบแคลงสงสัย ในขณะที่ร้อยละ 49.2 ไม่รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยกรณีซื้อไมโครโฟนราคาตัวละนับแสนบาท อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 47.2 ระบุให้ยกเลิกโครงการและจบกันไป ในขณะที่ร้อยละ 35.2 ระบุไม่ต้องทำอะไรให้เดินหน้าต่อ แต่ร้อยละ 17.6 ระบุให้ยกเลิกโครงการและผู้บริหารระดับสูงของทำเนียบรัฐบาลรับผิดชอบด้วยการลาออก ตามลำดับ