กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--GIZ
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนามาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาแรงงานฝีมือ
สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ของ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนา “มาตรฐานครูฝึกในสถานประกอบการในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดยมาตรฐานดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของความร่วมมือจากภาคเอกชนในระบบอาชีวศึกษาในภูมิภาค และเป็นเป้าหมายหลักหนึ่งของโครงการ “การพัฒนาการสอนงานในสถานประกอบการที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภูมิภาค โดยสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์แรงงานฝีมือของภาคเอกชน และอุปทานแรงงานในไร้ฝีมือในตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวกำหนดจะให้มีขึ้นจำนวน 4 ครั้ง โดยมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ และเอกชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเข้าร่วม คือ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนม่าร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึง ประเทศในอาเซียนอย่างประเทศฟิลิปปินส์ โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพัฒนามาตรฐานระดับภูมิภาคอย่างเหมาะสม และตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคอีกด้วย
โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมัน โดยกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นผู้สนับสนุนโครงการ โครงการจะมีระยะเวลาดำเนินงานเป็นเวลา 2 ปี และสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2015
ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ สอศ. กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานผีมืออย่างมาก และหากเราไม่สามารถผลิตกำลังคนตามความต้องการของตลาดได้อย่างเหมาะสม ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน ประเทศเวียดนาม และลาวก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน เป้าหมายของโครงการที่มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการพัฒนาแรงงานฝีมือจึงเป็นทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม และเป็นไปในทางเดียวกันกับเป้าหมายของ สอศ. ที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนอาชีวศึกษา การเรียนการสอนแบบทวิภาคีที่เกิดจากความร่วมมือของฝ่ายภาครัฐและเอกชน ย่อมตอบสนองและปรับตัวเข้ากับความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการออกแบบและประเมินหลักสูตร จะเป็นการยกระดับคุณภาพของอาชีวศึกษาอีกด้วย”
มร. คริสเตียน ชเตือร์ ผู้อำนวยการโครงการ GIZ กล่าวว่า “ระบบการศึกษาทวิภาคีเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศเยอรมนีมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โครงการเชื่อว่าการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในระบบการพัฒนาแรงงานไม่เพียงแต่จะสามารถแก้ปัญหาชาดแคลนแรงงานในตลาดแรงงานในปัจจุบันได้ แต่ยังเป็นเพิ่มประสิทธิภาพของระบบให้สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างยั่งยืน”
“เพื่อเป็นการประกันคุณภาพของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแรงงานของภาคเอกชน ทางโครงการจึงมุ่งสร้างมาตรฐานระดับภูมิภาคให้แก่ครูฝึกในสถานประกอบการ เพื่อกำหนดคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของครูฝึกและคุณภาพการฝึกอบรมในสถานประกอบการ โดยเป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือ การพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานสำหรับครูฝึกในสถานประกอบการ ที่ผ่านการฝึกอบรมและการทดสอบตามเกณฑ์ให้แก่ภาคเอกชน โดยจะเริ่มจากประเทศไทยและเวียดนาม จากนั้นจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป” มร. ชเตือร์ กล่าวเสริม