กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 อุบลราชธานี
สศข.11 เตือนเกษตรกรระวังสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี เผย มีการระบาดแล้ว 11 อำเภอ รวมประมาณ 3.7 หมื่นไร่ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังและหมั่นสังเกต พร้อมออกมาตรการควบคุม แนะ รีบแจ้งไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ หรือ ผู้นำชุมชน หรือ เกษตรอาสาได้ทันที
นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 (สศข.11) อุบลราชธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวหลายพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี ทั้ง 11 อำเภอ พื้นที่การระบาดรวมประมาณ 3.7 หมื่นไร่นั้น สถานการณ์ระบาดโดยรวมของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ยังมีการระบาดขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และใช้มาตรการควบคุมการระบาด พร้อมให้คำแนะนำป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว โดยมีการเร่งตรวจสอบพื้นที่และติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด
สำหรับการป้องกัน แนะนำให้เกษตรกรใช้สารบิวเวอเรียฉีดพ่น 3-5 วัน ใช้กับดักกาวเหนียว ใช้กับดักแสงไฟ เพื่อล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย โดยในส่วนพื้นที่ที่มีการระบาด แนะนำให้เกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงบูโพรเฟซิน หรือสาร อีโทเฟนพรอกซ์ หรือ สารคาร์โบฃัลแฟน หรือ ไอโซโพรคาร์บ โดยใช้ในอัตราตามคำแนะนำที่ระบุในฉลาก หรือปรึกษาเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ระบาดในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้ คือ เรื่องของสภาพอากาศเหมาะสม (อุณหภูมิ 28 องศา/ ความชื้นมากกว่า 80%) การเคลื่อนย้ายตามกระแสลม ประกอบกับพันธุ์ข้าวอ่อนแอ (มะลิ 105, กข.15) และการทำนาหว่านที่ต้นข้าวหนาแน่นเกินไป
สศข.11 จึงขอฝากเตือนเกษตรกรให้ระมัดระวังป้องกัน โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ใกล้แหล่งระบาด โดยหากได้รับผลกระทบความเสียหาย สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ ผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน หรือเกษตรอาสา เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงเพื่อลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ทางจังหวัดอุบลราชธานีโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พร้อมติดตามสถานการณ์ วางมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจัดเป็นศัตรูพืชที่มีความสามารถในการทำลายอย่างรวดเร็วและมีระดับความรุนแรงสูง มีแนวโน้มอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกรในวงกว้างได้ โดยสามารถสอบถาม หรือแจ้งสถานการณ์ได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 อุบลราชธานี โทร. 045 344 653-4 ในวันและเวลาราชการ