กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ก.วิทย์ฯ ร่วมมือสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและนิทรรศการอุตสาหกรรมอาหารทะเล ภายใต้โครงการนำร่องขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ภาคใต้ โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคใต้ (ศวภ. 3) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมประมง และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ช่วยเหลือสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารภาคใต้ ในการแก้ไขปัญหา ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลต่อไป โดยมี ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ และ รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฑสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวรายงานการจัดกิจกรรมฯ ณ ห้องประชุมหาดใหญ่ฮอล ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซนทรัลเฟสติวัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยการบรรยายและเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง นโยบายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการอาหารทะเล โดย ดร.ก่อศักดิ์ โตวรรธกวณิชย์ นักวิจัยนโยบายอาวุโส สวทน. การเสวนาสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปและแนวโน้มในอนาคต โดย ดร.ปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร การจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของเครือข่ายนักวิจัยด้านอาหารจากหลายมหาวิทยาลัยในภาคใต้ อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น การแสดงนิทรรศการงานบริการหน่วยงานภาครัฐเพื่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร เช่น หน่วยงานจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถาบันวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อุตสาหกรรมจังหวัด อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร การแสดงสินค้าและพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชน การระดมสมองระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยมีการแบ่งกลุ่มประชุมระดมสมองทางด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารทะเล การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาวัตถุดิบทดแทนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และการพัฒนาเพื่อรองรับกฎระเบียบมาตรฐานการผลิตและอาหารปลอดภัย โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา 200 คน จากภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา
คาดว่าจะสามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงหน่วยงานสนับสนุนและข้อมูลการบริการของภาครัฐ และกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเล และการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ