กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) จับมือ ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) จัดงาน MUFG Business Matching Fair in Bangkok ผลักดันผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสู่ญี่ปุ่น เปิดการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น และไทย รวมกันราว 120 บริษัท ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มค้าปลีก กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง กลุ่มเสื้อผ้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ภายในบ้าน กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ที่มุ่งผลักดันให้ บริษัทไทยก้าวไกลได้ถึงที่สุดของศักยภาพ และเติบโตอย่างมั่นคง คาดว่าจะเกิดการเจรจาราว 250 คู่ธุรกิจ (matching)
นายโมโตอิ มิตซึอิชิ ผู้บริหารระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย และผู้จัดการทั่วไป ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า “BTMU มีประสบการณ์ในการจัด Business Matching ทั้งในและต่างประเทศมาเป็นระยะเวลานาน ปีนี้ถือเป็นครั้งที่สองที่ BTMU ได้จัดงาน Business Matching ขึ้นที่กรุงเทพฯ และที่สำคัญคือ ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ BTMU และกรุงศรี ได้ร่วมกันจัดงานดังกล่าวนี้ขึ้น ซึ่งมีจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและจำนวนคู่การเจรจาธุรกิจที่เกิดขึ้นภายในงานครั้งนี้นับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก
“เราคาดว่าความต้องการของลูกค้าญี่ปุ่นซึ่งสนใจในผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันกำลังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องการที่จะจัดกิจกรรม Business Matching เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในเรื่องดังกล่าว” นายมิตซึอิชิ กล่าวเพิ่มเติม
BTMU มีประสบการณ์การจัดงาน Business Matching มาอย่างยาวนาน โดยได้จัดที่ญี่ปุ่น 11 ปีติดต่อกัน และมีกว่า 4,000 บริษัทเข้าร่วมงาน ขณะที่ในเอเชียได้จัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ในหลายประเทศ เช่น จีน (เซี่ยงไฮ้) อินโดนีเซีย เวียดนาม ฮ่องกง และประเทศไทย
‘MUFG Business Matching Fair in Bangkok’ ถือเป็นครั้งแรกที่ BTMU ได้ทำร่วมกับกรุงศรี ในฐานะที่ ทั้งสองเป็นบริษัทในเครือ MUFG ในการเชิญผู้ประกอบการชั้นนำจากญี่ปุ่นได้มาพบและเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูสู่เอเชียและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่นอีกด้วย กิจกรรมนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ
BTMU มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรม Business Matching และในเอเชีย BTMU มีหน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบด้านการทำ Business Matching ถึง 5 แห่งคือที่ โตเกียว นาโกย่า โอซาก้า ฮ่องกง และสิงคโปร์ และในระหว่างปี 2552 – 2556 BTMU ได้จัดให้มีการเจรจาธุรกิจไปแล้วเกือบ 900 Matching คือ เซี่ยงไฮ้ (370 matching) อินโดนีเซีย (150 matching) ฮ่องกง (175 matching) เวียดนาม (103 matching) และประเทศไทย (90 matching)
นายโนริอากิ โกโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันบทบาทของธนาคารจะไม่ใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนทางการเงินเท่านั้น แต่จะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับลูกค้า และพร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าได้ขยายโอกาสทางธุรกิจสู่สากลโดยผ่านกิจกรรม Business Matching และเครือข่ายของ BTMU ที่มีอยู่ทั่วโลก ที่พร้อมประสานให้เกิดการจับคู่ธุรกิจกับต่างประเทศ และงาน Business Matching ครั้งนี้เป็นผลมาจากการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างกรุงศรี และ BTMU โดยกรุงศรีได้เชิญผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ของใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า มาร่วมเจรจาธุรกิจกับบริษัทชั้นนำจากญี่ปุ่น เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน BTMU ได้เชิญผู้ประกอบการในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง กลุ่มผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า มาพบกับนักธุรกิจของไทย”
“เราคาดว่าผลจากการงาน Business Matching ครั้งนี้ จะทำให้เกิดโอกาสในการจับคู่ธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้ประกอบไทย และญี่ปุ่น กว่า 250 ธุรกิจ (Matching) รวมถึงเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้แนวทางการบริหารงานที่ประสบความสำเร็จจากคู่ค้าที่เป็นบริษัทชั้นนำจากญี่ปุ่น เพื่อนำมาปรับใช้ในการเตรียมความพร้อมเพื่อขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ในอนาคตต่อไป” นายโกโตะ กล่าว
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ราว 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ และสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 1.76 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยส่งสินค้าออกไปขายมากที่สุด อยู่ที่ประมาณ 10.52% ของยอดการส่งออก ในธุรกิจเอสเอ็มอี นั่นสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ และยังคงมีโอกาสที่สูงมากในการที่ต่างชาติจะเปิดรับสินค้าจาก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย