กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ร่วมกับ 3 การไฟฟ้า จัดทำแผนปรับปรุงโครงสร้างบริหารจัดการในสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับและลดผลกระทบเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ วงกว้าง
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จัดทำแผนรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นความเสี่ยงและไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีระสิทธิภาพ จึงต้องมีการกำหนดแผนและนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อใช้ในการตัดสินใจหากเกิดสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า พร้อมกันนี้ได้มีการทบทวนและปรับปรุงแผนให้มีความทันสมัยด้วย
การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นการนำผลการศึกษาโครงการศึกษาการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤติ (Emergency Response Arrangements) ด้านพลังงานไฟฟ้า เผยแพร่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบ และเข้าใจในการบริหารจัดการ พร้อมรับฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปพัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพ ก่อนนำผลการศึกษาเสนอต่อกระทรวงพลังงาน
ด้านนายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤติทางด้านพลังงานไฟฟ้า ทั้งรู้ล่วงหน้า เช่น การหยุดจ่ายก๊าซจากประเทศพม่า หรือกรณีฉับพลัน เช่น เหตุการณ์ไฟฟ้าดับที่เกาะสมุย เมื่อปี 2555 และไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด เมื่อปี 2556 ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน กระทรวงพลังงาน มอบหมายให้ สนพ.ดำเนินการวางแผนและเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย โดยทำหน้าที่รวบรวม ศึกษาวิเคราะห์ และเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า และได้ร่วมกับ 3 การไฟฟ้า จัดทำโครงการศึกษาการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารและจัดการในสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อใช้ในการพัฒนาหน่วยงาน ให้มีประสิทธิภาพ
“ความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นเรื่องที่ภาครัฐได้ตระหนัก และให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่ง สนพ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล และวางนโยบายด้านพลังงาน จึงต้องการความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเสนอแนวความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำแผนฯ เป็นไปอย่างสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ และให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน” ผอ.สนพ.กล่าว