กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
บรรดาพืชหลักที่รัฐเร่งส่งเสริมอันได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา มีพืชเพียงชนิดเดียวที่อยู่ใกล้ชิดคนไทยมากที่สุดแต่รับประทานไม่ได้ เป็นตั้งแต่สิ่งปลูกสร้าง เฟอร์นิเจอร์หรู ยางรถยนต์ ถุงมือยาง และถุงยางอนามัย นั่นก็คือ “ยางพารา” นอกจากนี้ ต้นยางพารายังต้องรับหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลปลอดสารพิษและเป็น Wood Pellet ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความอบอุ่นในเมืองหนาว...แต่ชาวสวนยางกลับประสบปัญหาราคายางตกต่ำจนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ จากในอดีตที่รุ่งเรืองราคายางพารา 180 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้ 50 กว่าบาทต่อกิโลกรัม และนี่ความอัศจรรย์ของยางพารา
ในขณะที่รัฐบาล คสช. ได้มีความพยายามอย่างสูงในการแก้ไขปัญหา 4 พืชหลัก ชาวพลังงานทดแทนก็แอบเชียร์อยู่เงียบๆ อันเนื่องมาจากพืชหลัก 4 ชนิด มีเศษเหลือทิ้งเป็นวัตถุดิบมีค่า (Feed stock) สำหรับผลิตพลังงานทดแทน เป็นที่ทราบและยอมรับกันแล้วว่าพลังงานทดแทนไทยกว่าร้อยละ 80 มาจากพืชพลังงาน “ยางพารา” พืชซึ่งไทยเป็นผู้นำตลาด ราคาในอดีตเริ่มจาก 20 บาทต่อกิโลกรัมต่อมารัฐบาลสมัยนั้นมีการบริหารจัดการโดยใช้การตลาดนำ ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นทำให้ราคายางพาราก้าวกระโดดไปจนแตะที่ราคา 180 บาทต่อกิโลกรัม ล่อใจนักเก็งกำไรทั้งหลายพากันขยายฐานการเกษตรปลูกยางจนเกือบทั่วประเทศ มาวันนี้ราคายางพาราในตลาดโลกลดลง เทคโนโลยียางสังเคราะห์สูงขึ้น ความต้องการยางพาราธรรมชาติลดลง ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ราคายางพารากิโลกรัมละ 54 บาท
ขอยกตัวอย่างภาคใต้ ซึ่งปลูกยางกว่า 11 ล้านไร่ และเป็นต้นยางที่เริ่มหมดอายุกว่าปีละ 5 แสนไร่ ปัจจุบันมีการตัดอยู่ประมาณ 3 แสนไร่เพื่อปลูกต้นใหม่ทดแทน การตัดต้นยางตามอายุมีข้อดี คือ ลดปริมาณน้ำยางส่วนเกินและช่วยรักษาเสถียรภาพราคายาง เมื่อต้นยางหมดอายุ (ให้น้ำยางน้อย) จึงจำเป็นต้องตัด ก่อนหน้านี้เป็นภาระของเจ้าของสวนยางพาราต้องว่าจ้างให้คนมาตัดเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ ปัจจุบันเจ้าของโรงเลื่อยต้องรับภาระการตัดและซื้อต้นยางดังกล่าวไร่ละ 30,000 - 40,000 บาทต่อไร่ นอกจากนั้น สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (กสย.) ยังจัดงบมาให้ไร่ละ 16,000 บาทเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับใส่ปุ๋ยและดูแลต้นยางพาราซึ่งชาวไร่จะทยอยเบิกในช่วงเวลา 4 ปีที่ต้นยางยังเล็กและให้ผลผลิตไม่ได้ ขอนำตัวเลขผลผลิตจากต้นยางพาราที่ชาวโรงเลื่อยหลายร้อยโรงในประเทศไทยใช้เป็นวัตถุดิบมาเล่าสู่กันฟัง
วิเคราะห์จากตารางข้างต้น
1. กรณีที่ตัดต้นยาง 3 แสนไร่ต่อปี ชาวไร่มีรายได้ไร่ละ 30,000 บาท จะเป็นเงินเก้าพันล้านบาทต่อปี ถ้าตัด 5 แสนไร่ต่อปีชาวไร่มีรายได้หนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาทต่อปี
2. เศษเหลือทิ้งจากไม้ยางพารา อาทิ ราคากิ่งไม้ทำฟืนราคา 700 บาท/ตัน ปีกไม้ราคา 500 บาท/ตัน ไม้แปรรูปราคา 2,300 บาท/ตัน ขี้เลื่อยราคา 700 บาท/ตัน และ รากไม้ตันละ 400บาท/ตัน หากตัดต้นยางพารา 5 แสนไร่ต่อปีจะเป็นเงินเท่าไหร่ลองคำนวณดู
3. จากการประเมินมีผลผลิต 59 ตันต่อไร่ หากตัดต้นยางพารา 5 แสนไร่ต่อปี ผลผลิตรวมก็คือ 29.5 ล้านตันต่อปี คาดว่ามีการนำไม้ยางแปรรูปไปใช้ในงานก่อสร้างและผลิตเฟอร์นิเจอร์เพียง 50% ส่วนที่เหลือก็จะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งส่งออก ซึ่งคาดว่าจะมีเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าอีกปีละกว่า 10 ล้านตันต่อปี สำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1 MW จะใช้เชื้อเพลิงชีวมวลประมาณหนึ่งหมื่นตันต่อปี ดังนั้นชีวมวลภาคใต้คงจะเหลือพอสำหรับโรงไฟฟ้ากว่า 1,000 MW สำหรับภาคอื่นๆ ต้นยางส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ครบอายุที่จะต้องตัด
อนึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลสำหรับภาคใต้ ควรจะมีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างจริงจัง เพิ่มความมั่นคงด้านไฟฟ้า และดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของไม้ยางพาราที่มีการตัดอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี ปัญหาที่มีในขณะนี้ก็คือ อัตราส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลของภาครัฐยังต่ำเกินไป ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ไปขอจำหน่ายไฟฟ้าไว้แล้ว แต่ไม่ดำเนินการได้เป็นจำนวนมาก ควรมีการยกเลิกใบอนุญาตบริษัทเหล่านี้ไปก่อนและเมื่อพร้อมลงทุนจึงมาขออนุญาตใหม่
คงได้เวลาแล้วที่ภาคเกษตรต้องหันมามองเกษตร-พลังงาน จะทำอย่างไรให้ตลอด Value Chain มีการแบ่งปันตั้งแต่ชาวสวนยางจนถึงโรงไฟฟ้า ให้มีความร่ำรวยเท่าๆ กัน ใครลงทุนลงแรงมากก็ได้มากแบบเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศไทยเรามีทรัพยากรมากเพียงพออยู่แล้ว ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมก็ควรเดินหน้า “อุตสาหกรรมใหม่” เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จะขายเป็นวัตถุดิบราคาถูกๆ เหมือนเดิมคงไม่ได้ เพิ่มวิสัยทัศน์สร้างนวัตกรรม เสาะหาเทคโนโลยีดีๆ นำเข้ามาช่วยชาวสวนยางพาราให้หายจน