กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารปี 2557 สรุปผลการดำเนินโครงการผ่านหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (National Agro Processing Industry Alliance: NAPIA) โครงการห่วงโซ่สีเขียวอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (GAPI) ซึ่งมีผู้ประกอบในเครือข่ายทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 750 กิจการ และสามารถพัฒนาเป็นผลงานนวัตกรรมอาหารเชิงพาณิชย์ได้กว่า 390 รายการ โดยปัจจุบันไทยยังคงเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากไทยมีพื้นฐานด้านการผลิตทางการเกษตรที่มั่นคงและมั่งคั่งทำให้มีวัตถุดิบในการแปรรูปที่หลากหลายและต่อเนื่อง ทำให้ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไทยมีมูลค่าการส่งออกถึงร้อยละ 22 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือ ราว 2 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เมื่อไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตาม ไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารได้ ต้องมีแนวทางในการพัฒนาอาหารอย่างเหมาะสมและครบวงจร รวมถึงยกระดับมาตรฐานการผลิต พร้อมเชื่อมโยงศักยภาพร่วมกับภาครัฐ เอกชน และวิชาการเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารของโลกได้ ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็น “ครัวของโลก”
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2367 8126 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่าในปี 2558 การรวมตัวเป็นตลาดเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะทำให้อาหารไทยมีความโดดเด่นมากขึ้น เนื่องจากศักยภาพของไทยในเรื่องของวัตถุดิบมีคุณภาพดีและเพียงพอ ความชำนาญของผู้ผลิต เทคโนโลยีที่ทันสมัย และราคาที่แข่งขันได้สังเกตได้จากมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าการส่งออกกว่า 5-6 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6 เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา (ข้อมูลจากสถาบันอาหาร) อย่างไรก็ตาม การได้รับการยอมรับในเรื่องรสชาติอาหารจากเวทีโลก ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาหารไทยเป็นอาหารจานโปรดของคนทั้งโลก ทาง กสอ. จึงมีนโยบายในการผลักดันอาหารไทยสู่ครัวโลก โดยการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถบริหารธุรกิจและตัวองค์กรให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ผ่านหลากหลายโครงการ อาทิ
โครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (National Agro Processing Industry Alliance: NAPIA) โครงการที่ดำเนินรอยตามแนวคิดหุบเขาอาหารแห่งเนเธอร์แลนด์ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาอาหาร ต่อยอดผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรมตอบสนองตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างไปตามวัฒนธรรมการบริโภค พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยโดยเน้นการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ ตลอดจนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ผ่านการร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาขั้นนำของประเทศหลายแห่ง เพื่อเพิ่มคุณค่าแก่ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเป็นการสานต่อให้ครัวไทยก้าวไปสู่ครัวระดับโลก ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การกำหนดพื้นที่เป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารใน 3 หัวเมืองใหญ่ ได้แก่ ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) จัดตั้งเป็นศูนย์กลางในเรื่องของผักและผลไม้แปรรูป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดนครราชสีมา) เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และภาคใต้ (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เป็นศูนย์กลางด้านผลิตภัณฑ์ประมง สับปะรดและมะพร้าว ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เป็นต้น ซึ่งตลอดการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (NAPIA) ตั้งแต่ปี 2555-2557 นั้น กสอ. ได้สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป จัดกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกทั่วไป และการอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากกว่า 750 กิจการ และเข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรเป็นจำนวนกว่า 2,150 ราย
โครงการห่วงโซ่สีเขียวอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (Green Agro Processing Industry Project : GAPI) เป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ประหยัดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดของเสียหรือมลพิษทั้งทางบกและทางน้ำรวมถึงช่วยยกระดับการค้าให้เป็นธุรกิจในระดับมาตรฐานสากล และสามารถเชื่อมโยงการยกระดับธุรกิจนี้กับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันในอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain Management : GSCM) ซึ่งตอบสนองนโยบายอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือจัดการทรัพยากรเพื่อก่อให้เกิดกำไร (Profitable Resource Management: PREMA) ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา กสอ. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นสถานประกอบการสีเขียวเพื่อสร้างสังคม สีเขียวเป็นจำนวนกว่า 17 กิจการ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการพัฒนาไปในทิศทางสีเขียว ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงและปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับปี 2557 มีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นกว่า 20 กิจการ
ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการของ กสอ. เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2555-2557 ภายใต้นโยบายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ให้สามารถแข่งขัน ในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการของ กสอ. แล้วกว่า 750 กิจการ โดยสามารถนำเอาผลผลิตไปพัฒนาและต่อยอดเป็นนวัตกรรมอาหารเชิงพาณิชย์ได้กว่า 390 รายการ ดร.อรรชกา กล่าวสรุป