กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้แถลงผลการประชุมPDMO – Market Dialogueปีงบประมาณ 2558ในวันที่ 17 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นการประชุมหารือแบบหลายฝ่ายระหว่างสบน. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ผู้ค้าหลักของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD)และผู้ร่วมตลาดตราสารหนี้ จำนวน 150 ท่านซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน และความต้องการของนักลงทุนเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2558 ตลอดจนแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศในอนาคตโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ประมาณการความต้องการระดมทุนของรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ 2558
ประมาณการความต้องการระดมทุนของรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ 2558วงเงินรวม 705,xxx ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.1. การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิม(Rollover)
(ก) กู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ (ขาดดุลฯ) 209,xxx ล้านบาท
(ข) กู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. FIDF 86,xxx ล้านบาท
(ค) กู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้า 66,xxx ล้านบาท
(ง) กู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินให้กู้ต่อ 29,xxx ล้านบาท
รวมการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ 390,xxx ล้านบาท
1.2. การก่อหนี้ใหม่ในปีงบประมาณ 2558
(จ) กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 250,xxx ล้านบาท
(ฉ) กู้เพื่อแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ 4,xxx ล้านบาท
(ช) กู้เพื่อนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ 2,xxx ล้านบาท
(ซ) กู้เพื่อมาให้กู้ต่อ
การก่อหนี้ใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 315,xxxล้านบาท
59,xxx ล้านบาท
รวม 1.1 + 1.2 705,xxxล้านบาท
2. กลยุทธ์การระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2558
2.1 การสร้างความต่อเนื่องของ BenchmarkBond
สบน.จะใช้พันธบัตรBenchmark เป็นเครื่องมือหลักในการระดมทุน โดยจะออกพันธบัตรBenchmark รุ่นอายุ 5 ปี10 ปี 15 ปี 30 ปี และ 50 ปี รวมทั้งหมดประมาณ 350,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณการระดมทุนทั้งหมดประมาณ705,000 ล้านบาทโดย สบน. มุ่งเน้นการสร้างสภาพคล่องในพันธบัตร Benchmark ที่จะออกในปีงบประมาณ 2558 โดยมีกลยุทธ์ในการ Top-up บนพันธบัตรBenchmark ทั้งหมดทุกรุ่น
สำหรับปีงบประมาณ 2558 สบน. กำหนดออกพันธบัตร Benchmark จำนวน 5 รุ่น ได้แก่
รุ่นอายุ 5 ปี : LB21DA
รุ่นอายุ 10 ปี : LB25DA
รุ่นอายุ 15 ปี : LB296A
รุ่นอายุ 30 ปี : LB446A
รุ่นอายุ 50 ปี : LB616A
โดยพันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี จะยังคงถูกกำหนดให้เป็นรุ่นExclusivityโดยให้สิทธิเฉพาะแก่MOF Outright PD เท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นมาสบน. ได้กำหนดให้พันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปีเป็นรุ่นExclusivity เป็นครั้งแรก ผลปรากฏว่า พันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปีดังกล่าว (LB196A) มีการเข้าประมูลครบตามจำนวนที่ต้องการ และมีต้นทุนจากการประมูลใกล้เคียงกับราคาตลาดทุกครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตร Benchmark รุ่นอายุอื่นๆรวมถึงมีการแข่งขันในการประมูลสูง กล่าวคือ
(1) มี Bid Coverage Ratio (BCR) ที่ประมาณ 2.5 – 3 เท่า
(2) มีการประมูลในอัตราผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับราคาตลาด เห็นได้จากผู้ที่ได้รับการจัดสรรรายแรกและรายสุดท้าย มีต้นทุนต่างกันเพียง 1 – 2 basis points
(3) มีการ Turnover Ratio ในตลาดรองสูงกว่า 3 เท่าของวงเงินคงค้าง
(4) มีการซื้อ-ขายเป็นลำดับที่ 1 ในตลาดรองด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 (Market Share)
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการให้ Exclusivity กับ MOF Outright PD ในพันธบัตร Benchmarkรุ่นอายุ 5 ปี ได้รับความนิยมสูงสุด และประสบความสำเร็จสูงสุดในการสร้างสภาพคล่องในตลาดรอง ซึ่ง สบน. จะดำเนินในแนวทางนี้ต่อไป ในการนี้ สบน. จะให้สิทธิประโยชน์ Greenshoe Option แก่ MOF Outright PD ในพันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี (LB21DA) ประจำปีงบประมาณ 2558 (รายละเอียดตามในข้อ 4)
2.2 การออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond: ILB)และพันธบัตรประเภททยอยชำระคืนเงินต้น (Amortized Bond : LBA)เพื่อเพิ่มความหลากหลายของตราสารหนี้
พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond : ILB) และพันธบัตรประเภททยอยชำระคืนเงินต้น (Amortized Bond) จัดเป็นพันธบัตร Benchmark Bond ประเภทพันธบัตรนวัตกรรม (Innovative Bond) ที่ สบน. ได้ดำเนินการออกมาอย่างต่อเนื่องและพัฒนาให้สามารถเป็นเครื่องมือการระดมทุนหลักของรัฐบาลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ให้มีความหลากหลาย ขยายฐานนักลงทุน และสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับตลาดตราสารหนี้ได้ โดยในปัจจุบันพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรุ่นอายุ 15 ปี (ILB283A) และพันธบัตรประเภททยอยชำระคืนเงินต้นรุ่นอายุ 25 ปี (LBA37DA) มียอดคงค้าง 77,730 ล้านบาท และ 115,000 ล้านบาท ตามลำดับดังนั้นเพื่อเพิ่มยอดคงค้างและสร้างสภาพคล่องแก่พันธบัตรในปีงบประมาณ 2558สบน. จึงมีแผนที่จะทำการประมูลพันธบัตรดังกล่าวทั้งสองรุ่นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยจะดำเนินการออกพันธบัตรรุ่นILB283Aให้มีมูลค่าคงค้างถึงระดับ 100,000 ล้านบาทโดย สบน. อาจมีการพิจารณา Re-open พันธบัตร ILB รุ่นอายุ 10 ปี (ILB217A) ซึ่งปัจจุบันมีอายุคงเหลือ 7 ปี หรือออกพันธบัตร ILB รุ่นอายุ 30 ปี ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะได้มีการหารือกับ MOF Outright PD ในการประชุมรายไตรมาสต่อไป นอกจากนั้น จะดำเนินการออกพันธบัตรรุ่น LBA37DAจำนวน 55,000 ล้านบาทเพื่อเพิ่มยอดคงค้างให้ถึงจำนวนประมาณ 200,000 – 300,000 ล้านบาทด้วย
2.3 การออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อส่งเสริมการออมภาคประชาชน
สบน. มีแนวทางการออกพันธบัตรออมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอและกำหนดให้มีวงเงินสูงขึ้น เพื่อส่งเสริมการออมของภาคประชาชนและรักษาสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยในพันธบัตรรัฐบาลโดยพันธบัตรออมทรัพย์ทั้งหมดถือโดยนักลงทุนรายย่อย ปัจจุบันยอดคงค้างของพันธบัตรออมทรัพย์ในตลาดตราสารหนี้เท่ากับ159,174 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของวงเงินพันธบัตรรัฐบาลคงค้าง
ในปีงบประมาณ 2558 สบน. วางแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์ทั้งหมด 3ครั้ง วงเงินรวม 38,000 ล้านบาท ดังนี้
พันธบัตรออมทรัพย์ทั่วไปรุ่นอายุ 3 ปี จำนวน 2ครั้ง มีระยะเวลาการจำหน่าย 4 เดือน และวงเงินรุ่นละ 4,000 ล้านบาท
พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่นอายุ 5 ปีขึ้นไป จำนวน 1 ครั้ง มีระยะเวลาการจำหน่าย 2 สัปดาห์ และวงเงินประมาณ30,000 ล้านบาท
2.4 การออกตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) อย่างเป็นระบบ
สบน. ยังคงมีแผนการออกT-Bill รุ่นอายุ 28 วัน อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตามที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เพื่อช่วยรักษาระดับเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ และรองรับการเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปีงบประมาณ พ.ศ.2560โดย สบน.จะออกตั๋วเงินคลังรุ่นอายุ 28 วันวงเงิน 10,000 - 25,000 ล้านบาท ทุกสัปดาห์
อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อให้มีวงเงินเพียงพอต่อความต้องการของตลาดและกำหนดให้มียอดคงค้างในตลาดประมาณ 100,000 ล้านบาท ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2558
3. แผนการทำธุรกรรม Bond Switching ของกระทรวงการคลัง
สบน. ได้พัฒนาธุรกรรม Bond Switching เพื่อรองรับการบริหารหนี้ให้มีความคล่องตัว ลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องในตลาดรอง รวมถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน
การดำเนินธุรกรรม Bond Switching จะมีขึ้นครั้งแรกในเดือน พฤศจิกายน 2557 โดย สบน. ได้กำหนดให้พันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB155A เป็นพันธบัตร Source Bondที่จะทำการแลกเปลี่ยน และจะมีการประกาศ Destination Bondsในการประชุม Bond Switching Domestic Roadshow วันที่ 28 ตุลาคม 2557 โดยการทำธุรกรรมครั้งแรกนี้ สบน. ได้คัดเลือกธนาคารพาณิชย์จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)และธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการดำเนินธุรกรรมการแลกเปลี่ยนพันธบัตรทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2558 โดยมีกำหนดการดำเนินการตามที่ปรากฏในรูปที่ 2 ด้านล่าง
4. การให้สิทธิประโยชน์ Greenshoe Option แก่ MOF Outright PD ในปีงบประมาณ 2558
ตามที่กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งสถาบันการเงินเป็นผู้ค้าหลักสำหรับธุรกรรมประเภทซื้อขายขาดของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD) เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น Market Maker สร้างสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดัน
การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับนักลงทุนเพื่อขยายฐานนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 13 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 1 ราย นั้น คณะกรรมการคัดเลือกและกำกับการดำเนินงานของผู้ค้าหลักสำหรับธุรกรรมประเภทซื้อขายขาดของกระทรวงการคลัง โดยมีผู้อำนวยการ สบน. เป็นประธาน ได้พิจารณาทบทวนการกำหนดหน้าที่และสิทธิประโยชน์ และเห็นควรกำหนดให้สิทธิประโยชน์
Greenshoe Option แก่ MOF Outright PD ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป โดยMOF Outright PD ที่ได้รับจัดสรรพันธบัตรBenchmark รุ่น 5 ปี (LB21DA) จะได้สิทธิในการซื้อพันธบัตรดังกล่าวเพิ่มเติมในราคา Average Accepted Yield (AAY) เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 20 ของพันธบัตรที่ได้รับจัดสรรกำหนดระยะเวลาใช้สิทธิดังกล่าวระหว่างเวลา 11.00 – 11.30 น. ของวันประมูล รายละเอียดปรากฏตามรูปที่ 3 ด้านล่าง
5. การผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย (Baht Bond) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศเป็นผู้นำด้านตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาค
ตามที่คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย (Baht Bond) ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นประธาน และมีผู้แทนจากสบน. ธปท. และก.ล.ต. เป็นกรรมการ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 เพื่อพิจารณาผ่อนปรนคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตออก Baht Bond เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาครองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)
คณะกรรมการฯ ได้มีมติผ่อนปรนเกณฑ์คุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาตออก Baht Bond ให้กับนิติบุคคลต่างประเทศจากกลุ่มประเทศ CLMV (ประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) สามารถยื่นคำขออนุญาตออก Baht Bond ได้ โดยใช้อันดับความน่าเชื่อถือ Local Scale ที่อยู่ในระดับInvestment Grade [BBB-] จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธปท. และ ก.ล.ต. จะร่วมกันประเมินและติดตามการออก Baht Bond ของกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การผ่อนปรนเกณฑ์คุณสมบัติในครั้งนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และบรรลุวัตถุประสงค์การเป็นผู้นำด้านตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาค รวมทั้งจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการระดมทุนของภาคเอกชนไทย
6. สบน. นำข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมตลาดและข้อมูลอื่นประกอบการพิจารณาแนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ 2558
ในการกำหนดแผนการระดมทุนประจำปีงบประมาณ 2558 นั้น สบน. จะทำการพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ เช่น
ผลการจัดเก็บรายได้จริงเทียบกับประมาณการและการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการ เพื่อวางแผนและวงเงินในการระดมทุนโดยไม่ให้ความผันผวนในด้านรายได้และรายจ่ายส่งผลกระทบต่อการออกพันธบัตร Benchmark
แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ความต้องการของตลาด โดย สบน. ได้สำรวจความคิดเห็นของ MOF Outright PDและผู้ร่วมตลาดอย่างสม่ำเสมอผ่าน
การประชุมหน่วยงานกำกับดูแล (ธปท. กลต.)รายไตรมาส
การจัดประชุม MOF Outright PD Dialogue รายไตรมาส
การประชุมร่วมกับนักลงทุนระยะยาว 1 – 2 ครั้งต่อปี
การหารือแบบหนึ่งต่อหนึ่งกับ MOF Outright PD
การจัดบูธในมหกรรมการเงินและผู้ออมรายย่อย 1-2 ครั้งต่อปี
การจัดประชุมPDMO Market Dialogue รายปี (การประชุมกับผู้ร่วมตลาดทั้งหมด)
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและความสอดคล้องกันระหว่างการออกพันธบัตรรัฐบาลและการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยโดย สบน. ได้มีการประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกไตรมาส อาทิ การประชุมคณะทำงานเพื่อการกู้เงินและบริหารเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล การประชุมคณะทำงานพิจารณาการกู้เงินและบริหารเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน FIDF เป็นต้น
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการระดมทุนด้วยเครื่องมือต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการระดมทุน
สบน. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้ร่วมตลาดในวันนี้ ไปประกอบการพิจารณาแผนการระดมทุนประจำปีงบประมาณ 2558 และนำเสนอต่อคณะทำงานต่างๆเพื่อให้ความเห็นชอบในการระดมทุน ซึ่ง สบน. จะประกาศตารางการประมูลพันธบัตรรัฐบาลประจำไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ2558ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2557
ทั้งนี้ สบน. ขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยMOF Outright PDและผู้ร่วมตลาดที่เข้าร่วมในการประชุมPDMO Market Dialogue ทุกท่าน โดย สบน. จะจัดการประชุม PDMO Market Dialogue อย่างสม่ำเสมอเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการระดมทุน ตลอดจนแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศต่อไป