กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--กองเกษตรสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้รายงานผลพยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร ปีเพาะปลูก 2557/58 และปี 2557 ไตรมาส 3/2557 โดยผลการสำรวจดังกล่าวมาจากการบูรณาการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจำแนกเป็นรายสินค้าเกษตรที่สำคัญ ดังนี้ 1.ข้าวนาปี ปี 2557 (ปีเพาะปลูก 2557/58) เนื้อที่เพาะปลูก 61,739,500 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 340,404 ไร่ หรือร้อยละ 0.55 ปริมาณผลผลิต 27,110,400 ตัน เพิ่มจากปีที่แล้ว 20,216 ตันหรือร้อยละ 0.07 โดยเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่แล้วทุกภาค เนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐ รวมทั้งราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน และเกษตรกรในภาคใต้เปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน โดยภาพรวมเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมากในเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม 2557 ทั้งนี้ เพราะปีนี้ฝนมาล่าช้าและบางส่วนต้องปลูกใหม่ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากฝนแล้งช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 ส่วนข้าวนาปรัง ปี 2558 (ปีเพาะปลูก 2557/58) เนื้อที่เพาะปลูก 12,566,600 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 3,044,770 ไร่ หรือร้อยละ 19.50 ปริมาณผลผลิต 8,411,200 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 1,675,300 ตัน หรือร้อยละ 16.61 โดยเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ มีน้อยกว่าปี 2556 โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลง และเห็นว่าผลตอบแทนไม่คุ้มค่าความเสี่ยง หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ
2.ยางพารา ปี 2557 เนื้อที่เพาะปลูก 17,404,949 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 917,676 ไร่ หรือร้อยละ 5.57 ปริมาณผลผลิต 4,578,538 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 203,218 ตัน หรือร้อยละ 4.64 ทั้งนี้ เพราะราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ได้จูงใจให้เกษตรกรปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้มียางพาราครบอายุเริ่มกรีดได้เป็นจำนวนมาก เนื้อที่กรีดได้ทั้งประเทศจึงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพาราที่เริ่มกรีดได้เป็นปีแรกซึ่งยังให้ผลผลิตน้อย มีสัดส่วนมากกว่ายางพาราในภาคใต้ซึ่งอยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ในภาพรวมลดลง 3.ไก่เนื้อ ปี 2557 มีจำนวน 153,398,856 ตัว เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 3,498,596 ตัว หรือร้อยละ 2.33 ปริมาณการผลิตในรอบปี 1,209,522,081 ตัว เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 106,198,882 ตัว หรือร้อยละ 9.63 โดยการผลิตไก่เนื้อของไทยคาดว่ายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกเนื้อไก่ในปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยตลาดต่างประเทศ คือ อังกฤษ เยอรมัน เนเธอแลนด์ ได้เปิดตลาดและนำเข้าเนื้อไก่สดแช่เย็น-แช่แข็งจากไทยตั้งแต่กลางปี 2555 อีกทั้งญี่ปุ่นเปิดตลาดเนื้อไก่สดให้ไทยเพิ่มขึ้น ภายหลังจากชะลอการนำเข้าจากประเทศจีน
4.ไก่ไข่ ปี 2557 มีจำนวน 46,970,848 ตัว เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2,680,887 ตัว หรือร้อยละ 6.05 ปริมาณผลผลิตในรอบปีของไข่ไก่ 11,717,712,179 ฟอง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 571,286,089 ฟอง หรือร้อยละ 5.13 โดยไก่ไข่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลที่เปิดให้นำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) และนำเข้าปู่-ย่าพันธุ์ (GP) เพื่อนำมาผลิตแม่ไก่ไข่ ทำให้แม่ไก่ยืนกรงในระบบมีมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐร่วมกับเอกชนมีนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งขยายการส่งออกไข่ไก่มากขึ้น และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เร่งพัฒนาการเลี้ยง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตสูง 5.สุกร ปี 2557 มีจำนวน7,909,670 ตัว ลดลงจากปีที่แล้ว 13,984 ตัว หรือร้อยละ 0.18 ปริมาณการผลิตในรอบปี 12,822,990 ตัว ลดลงกว่าปีที่แล้ว 248,573 ตัว หรือร้อยละ 1.90 ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตลดลง เนื่องจากผู้เลี้ยงรายกลางและรายเล็กเลิกเลี้ยง ทำให้เหลือแต่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่ผลิตเป็นการค้า สาเหตุจากช่วงปลายปี 2556 ถึงเดือนเมษายน 2557 สภาพอากาศร้อนจัด สุกรกินอาหารน้อย เติบโตช้า และเกิดโรคระบาด Porcine Epidemic Diarrhea (PED) ในลูกสุกร และโรค Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS) ในแม่สุกรอุ้มท้อง อย่างไรก็ตาม ฟาร์มขนาดใหญ่ที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้ดีจะยังให้ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ดี
6.โคเนื้อ ปี 2557 มีจำนวน 4,895,920 ตัว ลดลงจากปีที่แล้ว 251,601 ตัว หรือร้อยละ 4.89 ปริมาณผลผลิตในรอบปี 974,708 ตัว ลดลงจากปีที่แล้ว 20,499 ตัว หรือร้อยละ 2.06 เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ขายโคเนื้อเป็นจำนวนมาก ด้วยราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนโคเนื้อที่จะนำมาขยายพันธุ์ต่อในประเทศ แต่ในปีนี้คาดว่าจำนวนแม่โคมีอัตราลดลงไม่มากเช่นปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนเริ่มเก็บแม่พันธุ์โคไว้เพื่อขยายพันธุ์ ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อแม่พันธุ์โคเข้ามาเลี้ยงได้ เพราะมีราคาสูงมาก ส่งผลให้มีจำนวนโคเนื้อลดลง
ทั้งนี้ ผลพยากรณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรดังกล่าว จะนำไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลในการดำเนินงานเพื่อรองรับสถานการณ์สินค้าเกษตรและป้องกันไม่ให้สินค้าเกษตรเกิดการล้นตลาดต่อไป