กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--TCELS
TCELS โต้โผเปิดตัว TIBEC หวังเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวิศวกรรมชีวการแพทย์ของไทย ให้เข้มแข็งแข่งได้ในระดับนานาชาติ “ดร.นเรศ” เผย ได้ยักษ์ใหญ่จากภาคเอกชนอย่าง โตโยต้า-ปตท.-อมตะ-รพ.กรุงเทพ เสริมแกร่ง ร่วมด้วยผู้สนับสนุนภาครัฐ ทั้งจาก สภาอุตสาหกรรม บีโอไอ อย. สวทช. แพทยสภา และมหาวิทยาลัย มั่นใจฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยได้แน่นอน
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวภายหลังการเปิดตัว เครือข่ายความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Thailand Industrial Biomedical Engineering Consortium : TIBEC) ว่า TCELS ในฐานะมีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจและการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ประเทศไทยมีศักยภาพ รวมทั้งดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จัก และยอมรับในฐานะผู้มีบทบาทด้านชีววิทยาศาสตร์ในเวทีโลก และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพบรรลุเป้าหมายจำเป็นต้องมีกลไกการขับเคลื่อนและผลักดันให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง TCELS จึงมีแนวคิดประสานการจัดตั้ง TIBEC ขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันเชิงนโยบาย และสนับสนุนให้ธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
ผอ. TCELS กล่าวด้วยว่า เป็นที่น่ายินดีว่า ผู้ที่เข้าร่วมเครือข่าย มีทั้งภาครัฐ เอกชน ซึ่งล้วนแต่เป็นกำลังหลักในการผลักดันให้อุตสาหกรรมวิศวกรรมชีวการแพทย์เติบโตทั้งสิ้น อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แพทยสภา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด โรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด บริษัท ซีทีเอเชีย โรบอติกส์
ด้านนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะประธาน TIBEC กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การปฏิบัติและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จำเป็นต้องรู้ถึงสถานการณ์ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การจัดตั้ง TIBEC ขึ้นมา โดยมีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยกรรมการเครือข่ายฯ มีบทบาทในระดับนโยบาย วางกรอบแนวทางการดำเนินงาน และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ประสานความเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับปฏิบัติการ ทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งนี้อุตสาหกรรมวิศวกรรมชีวการแพทย์ มีขอบข่ายที่ใหญ่ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ มั่นใจว่าการรวมศักยภาพของเครือข่าย และเดินหน้าอย่างจริงจัง จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้เติบโต นอกจากนี้ยังเชื่อว่าวิศวกรรมชีวการแพทย์ของไทยจะสามารถแข่งขันได้ในระดับเวทีโลกอย่างแน่นอน