กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--a publicist
ปริมาณก๊าซคาร์บอนที่มนุษย์สร้างขึ้นในชีวิตประจำวันแบบไม่รู้ตัว เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน ที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังวิตก พร้อมเร่งหาแนวทางการแก้ไข โดยปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมออกมารณรงค์ลดใช้พลังงานเพื่อลดปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจการแก้ปัญหาแบบผิดวิธี จนกลายเป็นการเพิ่มปริมาณของปัญหา
โดย “พานาโซนิค” และ “มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ (FEED)” ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงนำกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ช.ม. ลดโลกร้อน (60 EARTH HOUR)” มาต่อยอดเป็นโครงการ “โรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก (Low carbon school network)” เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของสังคมเมืองใหญ่ ได้เรียนรู้และเข้าใจถึง “รอยเท้าคาร์บอน” ที่เราทุกคนสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทั้งในเรื่องของการเดินทาง การรับประทานอาหาร ที่อยู่อาศัย หรือกระทั่งสิ่งของเครื่องใช้รอบตัว ต้นตอสำคัญของการเกิดภาวะเรือนกระจกและโลกร้อน พร้อมทั้งชี้ให้เยาวชนได้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขด้วยการ “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ซึ่งถือเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
คุณศิริรัตน์ ยงค์เจริญชัย ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า “สำหรับโครงการนี้เราจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยในปีแรก ได้เริ่มจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และขยายไปที่สมุทรปราการในปีที่ 2 ปีนี้จึงขยายมายังกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี มีวัตถุประสงค์หลักคือให้น้องๆ นักเรียนได้ตระหนักถึงปัญหา พร้อมให้ความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติและการพัฒนาทักษะที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดรอยเท้าคาร์บอน หรือ Carbon Footprint โดยเริ่มจากกิจกรรม School Out Reach แนะนำโครงการแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมค้นหาตัวแทนนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนกว่า 100 คนจาก 17 โรงเรียน ร่วมเข้าค่ายทำกิจกรรม เรียนรู้เรื่องพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน หลังจากนั้นน้องๆ ต้องนำความรู้ที่ได้ไปจัดทำโครงงานแผนการลดรอยเท้าคาร์บอน เผยแพร่ความรู้และแนะนำให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียน โดยจะมีคณะกรรมเข้าไปให้คำแนะนำและติดตามผล หากโรงเรียนใดสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนในการลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอนได้มากที่สุด จะได้รับรางวัลพร้อมนำผลงานไปจัดแสดงในกิจกรรม Earth Hour (ปิดไฟ 1 ชั่วโมงให้โลกพัก)”
ทางด้าน คุณเอกสิทธิ์ จำปาเฟื่อง ผู้จัดการโครงการโรงเรียนใหญ่รอยเท้าเล็ก มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า “ก่อนที่จะนำน้องๆ ไปเข้าค่าย Smart Energy Camp นั้น ทางโครงการจะมีการให้ความรู้พื้นฐานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมกับเยาวชนแต่ละโรงเรียนผ่านกิจกรรม School Out Reach
โดยจะเป็นกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่น้องๆ ในโรงเรียนในเขตจังหวัดปทุมธานีที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 11 โรงเรียน ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายจากจัดหวัดกรุงเทพฯ 2 โรงเรียนและโรงเรียนจากจังหวัดสมุทรปราการอีก 4 โรงเรียน เน้นการถ่ายทอดความรู้ 3 เรื่อง คือ การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในสังคม การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน และการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนพร้อมสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยแนวทาง “การใช้พลังงานอย่างสร้างสรรค์ และ พอเพียง (Smart Energy)” โดยใช้การบอกเล่าเรื่องที่สนุกสนาน เข้าใจง่าย จดจำง่ายและนำปฎิบัติได้จริง
การเล่นเกม ตอบคำถาม และลงมือทำ รวมทั้งการให้น้องๆ ได้ลองคำนวณรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ของตนเอง เมื่อน้องๆ เห็นตัวเลขรอยเท้าคาร์บอนที่แต่ละคนทิ้งไว้ให้กับโลก ก็จะเกิดการตระหนักถึงปัญหา และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำภายในโรงเรียน มากไปกว่านั้น น้องๆ นักเรียนยังสามารถเป็นแรงเสริมที่จะช่วยขยายแนวคิดจากจุดเล็กๆ ในโรงเรียนไปสู่สังคมของตนเองและครอบครัวต่อไป”
โรงเรียนวัดพิรุณศาสตร์ จ.ปทุมธานี คือหนึ่งใน 17 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็กในปีนี้ และนอกจากน้องๆ ในระดับชั้นประถมศึกษาที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เข้าร่วมกิจกรรม School Out Reach จะได้เรียนรู้ถึงปริมาณคาร์บอนที่ตนเองสร้างขึ้นแล้ว จากการทำกิจกรรม เล่นเกม ตอบคำถามด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้มีเยาวชนได้รับการคัดเลือกเข้าร่วม Smart Energy Camp เพื่อนำความรู้มาสร้างแผนงานลดคาร์บอนในโรงเรียน และแข่งขันกับเพื่อนๆ จากโรงเรียนอื่นๆ ได้
น้องเบียร์ เด็กหญิงปิยะธิดา สุวรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตัวแทนโรงเรียนวัดพิรุณศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า “รู้สึกดีใจมากค่ะที่จะได้เป็นตัวแทนของเพื่อนๆ และโรงเรียน เพราะจะได้เรียนรู้วิธีการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนเพื่อนำมาถ่ายทอดให้ความรู้กับเพื่อนในโรงเรียนต่อไป เพราะจากกิจกรรมที่ได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวที่ไม่เคยรู้มาก่อนอย่าง “รอยเท้าคาร์บอน” และก็ ตกใจมากเมื่อได้คำนวณปริมาณคาร์บอนที่ตัวเองปล่อยออกไปมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 5.25 ตันต่อปี ซึ่งต้องปลูกต้นไม้กว่า 500 ต้นจึงจะดูดซับปริมาณก๊าซฯได้หมด ซึ่งหลังจากการเข้าค่ายครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้เพื่อนในโรงเรียนต่อไปค่ะ”
น้องนา เด็กหญิงสาวิตรี ลม้ายกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อีกหนึ่งตัวแทนของโรงเรียนวัดพิรุณศาสตร์ เล่าว่า “กิจกรรมการคัดตัวแทนในวันนี้สนุกมาก ได้รับความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเช่น การรับประทานอาหารบางเมนูก็ทำให้โลกร้อนได้ เช่น “หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์อบชีส เพราะวัตถุดิบที่ต้องใช้การขนส่งในระยะไกลก็ทำให้มีค่ารอยเท้าคาร์บอนจากการใช้พลังงานในการขนส่งมากตามไปด้วย ส่วนปัญหาใกล้ตัวในโรงเรียน คือปริมาณการใช้ไฟฟ้าในห้องคอมพิวเตอร์และห้องสมุดที่ต้องมีการเปิดแอร์ตลอดเวลา จึงอยากจะรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งหากได้เป็นตัวแทนเข้าค่ายพลังงานก็อยากจะนำความรู้ที่ได้มาลดรอยเท้าคาร์บอนจากส่วนนี้ด้วยค่ะ
ในส่วนอื่นๆ ไม่มีการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองมากนัก เพราะโรงเรียนจะรณรงค์ให้นักเรียนนำแก้วน้ำมาทานแทนการใช้ขวดพลาสติก ส่วนเรื่องการเดินทางมาโรงเรียน จะเน้นการเดินสำหรับนักเรียนบ้านใกล้ และการปั่นจักรยานสำหรับนักเรียนบ้านไกล”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดตั้งต้นในการลดรอยเท้าคาร์บอนจากมุมมองของเยาวชน ต้องคอยจับตาดูว่าภายหลังจากการเข้าค่าย Smart Energy Camp แล้ว แผนโครงงานลดรอยเท้าคาร์บอนของเยาวชนแต่ละโรงเรียนจะออกมาเป็นอย่างไร
“โครงการ “โรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างการเรียนรู้พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งขั้นตอนและวิธีการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ จะถูกจัดทำเป็น “คู่มือการเป็นโรงเรียนคาร์บอนต่ำ” เพื่อแจกให้กับโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องการทั่วประเทศ นำไปใช้เป็นต้นแบบการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนต่อไป”