กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
‘ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่’ ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อจำหน่ายให้แก่ภาครัฐ พร้อมรุกธุรกิจเต็มที่ หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล เตรียมเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 450 ล้านหุ้น ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในปลายเดือนตุลาคมนี้ หลังภาครัฐมีนโยบายหนุนเอกชนร่วมผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “TSE”) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ภาครัฐตามนโยบายการสนับสนุนการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของสำนักงานนโยบายและพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โดยเลือกใช้เทคโนโลยีและที่ตั้งทำเลที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนที่ดีและมั่นคงในระยะยาว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีนโยบายการดำเนินธุรกิจในการเป็นผู้ให้บริการรับสร้างและจัดหาอุปกรณ์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลังภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเอกชนร่วมผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีนโยบายขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่นพลังงานลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ รวมถึงขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปต่างประเทศในรูปแบบ Solar Farm และ Solar Rooftop เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทฯ ชั้นนำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย
นายสมภพ พรหมพนาพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด 25 โครงการ รวม 98.5 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าความร้อนจากแสงอาทิตย์ในระบบรางรวมแสง (Solar Thermal) ซึ่งได้จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 1 โครงการ ด้วยกำลังการผลิตและเสนอขาย 4.5 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบโฟโต้โวลตาอิก หรือโซล่าร์เซลล์ (โรงไฟฟ้า PV) ในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วไปซึ่งติดตั้งบริเวณพื้นดิน หรือ Solar Farm จำนวน 10 โครงการในจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี รวม 80 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ได้ครบทั้ง 10 โครงการแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยทั้ง 10 โครงการ เป็นการร่วมทุนกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทหลักด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพาณิชย์ (Commercial Rooftop) จำนวน 14 โครงการ โครงการละ 1 เมกะวัตต์ รวม 14 เมกะวัตต์ โดยเป็นพันธมิตรกับโฮมโปรและเดอะมอลล์กรุ๊ป ทำให้ TSE ถือเป็นผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพาณิชย์ (Commercial Rooftop) รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป
ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) และยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.ได้นับหนึ่งไฟลิ่งของบริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะสามารถเปิดขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
ทั้งนี้ บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 450 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 1,815 ล้านบาท ซึ่งมีทุนที่ออกและชำระแล้ว จำนวน 1,365 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,365 ล้าน หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
สำหรับเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เช่น การลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่น การให้บริการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และจัดหาอุปกรณ์ เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป