กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
ที่ผ่านมาจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของไทย ต้องประสบกับปัญหาทั้งภัยธรรมชาติ และ ภัยจากปัญหาความไม่สงบ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 4 จังหวัด ส่งกระทบต่อ ผลผลิตผลไม้ในภาคใต้ และเกษตรกร ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการขยายตลาดที่พบอุปสรรคหลายด้าน รวมถึงความปลอดภัยในการกระจายผลผลิต กลายเป็นสาเหตุสำคัญของราคาผลผลิตที่ตกต่ำ และไม่สามารถขยายตลาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากนัก
กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะหน่วยงานภาครัฐ จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะเข้าไปช่วยส่งเสริมและผลักดันช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้สามารถขยายตลาดและสร้างฐานราคาที่เป็นธรรม
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “ลักษณะของผลผลิตผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้จะมีลักษณะคล้ายกับผลผลิตในภาคตะวันออกคือมีผลไม้หลักอยู่ 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง โดยผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้จะแบ่งแยกตามกายภาพของภูมิประเทศคือภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง ที่พบปัญหาเกี่ยวผลผลิต และความเดือดร้อนของเกษตรมากที่สุด จะอยู่ในภาคใต้ตอนล่าง ปริมาณผลผลิตรวม 156,283 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมประกอบด้วยทุเรียน มีจำนวน 51,078 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 62.32 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงกรกฎาคม – สิงหาคม ขณะนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ร้อยละ 73.19มังคุด มีจำนวน 28,337 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 12.19 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงกรกฎาคม – สิงหาคม ขณะนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ร้อยละ 72.21เงาะ มีจำนวน 21,183 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 1.47 ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ช่วงสิงหาคม – กันยายน ขณะนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ร้อยละ 63.01 และลองกอง มีจำนวน 55,645 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 55.32 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงสิงหาคม – ตุลาคม ขณะนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ร้อยละ 26.67
สำหรับผลผลิตของผลไม้ ในส่วนของทุเรียน มังคุดและเงาะ มีแนวโน้มปัญหาด้านราคาค่อนข้างน้อย แต่ปัญหาของผลผลิตผลไม้ในภาคใต้จะอยู่ที่ลองกอง โดยเฉพาะในภาคใต้ตอนล่างที่ต้องอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลผลิตออกมาก มีความกระจุกตัวสูงในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ซึ่งขณะนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ การค้าภายในจังหวัด ศอบต. รวมทั้ง กอ.รมน. ได้มีการหารือเพื่อบูรณาการร่วมกันในการจัดทำแผนการรับซื้อและกระจายผลผลิตลองกองออกจากพื้นที่ภาคใต้อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีงบสนับสนุนจาก คชก. ตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคใต้ ปี 2556 เพื่อช่วยเสริมการดำเนินงานอีกทางหนึ่งอยู่แล้ว” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว
“ลองกอง” ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ไม่เพียงประสบปัญหาในด้านราคาและจำนวนของผลผลิตเท่านั้น แต่หากยังประสบปัญหาใหญ่เกี่ยวกับเรื่องของการระบายผลผลิต และการขยายช่องทางการการตลาด ที่ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวอีกว่า “สำหรับแนวทางแก้ปัญหาจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ แนวทางระยะเร่งด่วนโดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทาน เพื่อให้มีข้อมูลทั้งด้านการผลิต (Supply) โดยวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพื้นที่ เช่น ชนิดผลไม้ สภาพพื้นที่ การจัดการการผลิต แหล่งน้ำ เพื่อกำหนด Zoning ที่เหมาะสมต่อการปลูกไม้ผลแต่ละชนิด พร้อมทั้งใช้แผนที่ในการดำเนินการเพื่อให้สามารถพยากรณ์ชนิด ปริมาณผลผลิต ช่วงเวลา รวมทั้งชั้นคุณภาพผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด และวิเคราะห์ความต้องการของตลาด (Demand) โดยมีการวิเคราะห์ด้านปริมาณแหล่งผลิต จุดรับซื้อ เพื่อจะได้นำข้อมูลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวมา Mapping ข้อมูลเพื่อจะได้ทราบปริมาณผลผลิตส่วนเกินจากที่กลไกตลาดปกติรองรับได้ (Over supply)แล้วจึงกำหนดแผนการจัดการผลผลิตส่วนเกินโดยแบ่งการดำเนินงาน 3 ส่วน คือ บริหารจัดการโดยใช้งบจังหวัด การขอสนับสนุนจาก คชก. และ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้การดำเนินงานตามมาตรการที่ได้รับการสนับสนุนงบจาก คชก.วงเงิน 37.50 ล้านบาท
เพื่อกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต เป้าหมายผลผลิต 7,800 ตัน วงเงิน 19.50 ล้านบาท จัดกิจกรรมการสนับสนุนค่ารวบรวมผลผลิตจากสวนเกษตรกร ในอัตรา 2.50 บาท/กก. เป้าหมาย 4,000 ตัน ซึ่งในขณะนี้มีการอนุมัติผู้เข้าร่วมโครงการของจังหวัดปัตตานี จำนวน 4 กลุ่ม (เป้าหมายลองกอง 200 ตัน) และจังหวัดยะลาจำนวน 28 กลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนค่าขนส่งในการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ภาคใต้ ในอัตรา 2.50 บาท/กก. เป้าหมาย 3,800 ตัน วงเงิน 9.50 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการระหว่างจังหวัดร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยทหาร สหกรณ์ กลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผล วิสาหกิจชุมชน เปิดตลาดกลางสินค้าเกษตรจังหวัดภาคใต้ชายแดน เพื่อเป็นจุดรวบรวมผลไม้จากกลุ่มเกษตรกรไปสู่พ่อค้าทั่วไปในพื้นที่ เพื่อรับซื้อและกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งภายในและส่งออกต่างประเทศ เป้าหมายลองกองประมาณ 50 ตันต่อวันโดยมีการช่วยรับซื้อผลผลิตมังคุดและลองกองจากเกษตรกรในพื้นที่ ในครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนกันยายน
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตเนื่องจากปัญหาที่สำคัญของผลไม้ภาคใต้ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ คือเรื่องของคุณภาพโดยพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ผลิต เช่น สถาบันเกษตรกร กลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผล ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตที่ดีตรงความต้องการของตลาด เน้นการคัดแยกเพื่อจัดชั้นคุณภาพผลผลิตก่อนจำหน่ายออกสู่ตลาด รวมทั้งการป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ทุเรียนอ่อนและส่งเสริมการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาในช่วงที่มีการกระจุกตัวสูง หรือมีผลผลิตด้อยคุณภาพในปริมาณมาก
และจะช่วยในด้านการผลักดันการส่งออก สนับสนุนและผลักดันให้มีการส่งออกผลิตผล ทั้งผลไม้สดและแปรรูป ไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งในและนอกกลุ่ม AEC
นอกจากนี้ยังจะเน้นประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภค เน้นการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการผลไม้ ตลอดจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพดีในแต่ละช่วงฤดูกาล รวมทั้งคุณประโยชน์ของผลไม้ไทย เพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น” นายโอฬารกล่าว
และทั้งหมดนี้ คือแนวทางการช่วยเหลือผลผลิตของผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นความหวังของเกษตรกร ที่จะสามารถขยายช่องทางการตลาด และ ได้รับราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประสบกับภัยต่างๆ และได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้