กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
กรมป่าไม้จัดงานสถาปนาครบรอบ 118 ปี “มุ่งมั่นรักษาป่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย” กระตุ้นจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย รมว.ทส. ในการป้องกันการบุกรุกป่า โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาเป็นประธานในพิธี
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2439 (ร.ศ.115) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง กรมป่าไม้ขึ้น สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากร การทำป่าไม้และเพื่อให้ป่าไม้อำนวยประโยชน์ด้านเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนมากที่สุดและยาวนานที่สุด จวบจนถึงปัจจุบันได้ดำเนินงานตามภารกิจ ฝ่าฟันอุปสรรค และประสบกับปัญหามากมายในการปฏิบัติหน้าที่และพร้อมที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศโดยไม่ย่อท้อ พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มาโดยตลอดนับเป็นเวลาถึง 118 ปีเต็ม และตลอดช่วงระยะเวลา 118 ปี ที่กรมป่าไม้ไม่เคยหยุดก้าวเดินต่อไปข้างหน้าตามสโลแกนของกรมป่าไม้ที่ว่า “มุ่งมั่นรักษาป่า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย” กรมป่าไม้ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานรวมถึงการบริหารจัดการ เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งกรมป่าไม้ได้เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขในเรื่องของการบุกรุกพื้นที่ป่า ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น กรมป่าไม้เองจึงได้มีการปรับรูปแบบแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้คนและป่าสามารถอยู่พึ่งพาอาศัยกันได้อย่างยั่งยืน โดยกรมป่าไม้ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงานด้านป่าไม้
ดร.ธีรภัทร กล่าวต่อว่า การจัดงานวันสถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 118 ปี และครบรอบ 12 ปี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในวันที่ 18 กันยายน 2557 ก็เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป หันมาสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างจริงจัง โดยในปีนี้กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับเกียรติจาก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินทางมาเป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ รมว.ทส. จะได้ร่วมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมป่าไม้ พร้อมทั้งถวายเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชนป่าไม้ ภายหลังเสร็จพิธี รมว.ทส. จะได้ให้โอวาทแก่ราชการ เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมในพิธี ทั้งนี้แผนงานที่กรมป่าไม้จะดำเนินงานในปีที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 119 ในปี 2558 โดยจะมุ่งเน้นในการดำเนินการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน หน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การดำเนินการป้องกันรักษาป่า ในเรื่องการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายป่าไม้ การจัดการที่ดินป่าไม้ในการตรวจสอบเพื่อรับรองสิทธิทำกินและการดำเนินงานของป่าสงวนแห่งชาติ การปลูกป่าและบำรุงป่าฟื้นฟูสภาพป่า ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมรวมถึงพื้นที่ป่าที่กรมป่าไม้ได้ยึดคืนมาได้จากการถูกบุกรุกพื้นที่ป่า ทางด้านการมีส่วนร่วมกรมป่าไม้ยังมีโครงการ CSR ในเรื่องของการปลูกป่าภายใต้โครงการปลูกป่าเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงโครงการดี ๆ ที่หน่วยงานเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกรมป่าไม้ อย่างหน่วยงาน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการปลูกป่า โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ที่กรมป่าไม้ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โครงการศาสนาค้ำพะยูง ที่กรมป่าไม้ร่วมกับทางครอบครัวข่าว 3 ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และโครงการ 60 ป่าชุมชน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสพระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา 2 เมษายน 2558 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดตั้งป่าชุมชนให้มีเพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างพันธมิตรแนวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำ MOU ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และการก้าวเดินหน้าศึกษางานวิจัยพัฒนาการใช้ประโยชน์และผลิตผลจากไม้
ดร.ธีรภัทร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมป่าไม้ตระหนักดีว่า ลำพังกรมป่าไม้เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้คงอยู่เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน หากขาดความร่วมมือ ร่วมใจ และการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนรวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในอนาคต แต่เมื่อใดที่ทุกฝ่ายได้หันมาผนึกกำลังกัน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในทรัพยากรป่าไม้ที่ต้องใช้อย่างรู้คุณค่าให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรของเราทุกคนก็จะยังคงอยู่เป็นมรดกเก็บไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคตได้อย่างยั่งยืนสืบไป ดร.ธีรภัทร กล่าว