Story Board แบบบ้าน ๆ กระบวนการเรียนรู้แบบง่าย ๆ ของกลุ่มพลังพลเมืองจังหวัดศรีสะเกษ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 24, 2014 13:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยน เกมและโลกออนไลน์เริ่มเข้าใกล้ถึงตัวได้ง่ายขึ้น กลุ่มพลังพลเมืองจังหวัดศรีสะเกษจึงรวมตัวเพื่อสืบทอดฟื้นฟูอาชีพและวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่นที่ค่อย ๆ สูญหายไปตามกาลเวลา โดยการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนจาก 5 อำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ กลายเป็นกลุ่มใหญ่ภายใต้ชื่อโครงการ พลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ที่มีแนวคิดเดียวกัน คือร่วมกันฟื้นฟูชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ แต่กว่าที่เยาวชนจะเข้าใจชุมชนและสังคมของตัวเองได้นั้น ต้องมีขั้นตอนและกระบวนการที่จะช่วยหนุนเสริมให้กลุ่มพลังพลเมืองเหล่านี้ได้รู้จักชุมชนผ่านกระบวนการง่าย ๆ แต่เข้าใจด้วยการทำ Story Board หรือการวาดแผนที่ชุมชนของตนเอง ก่อนที่เข้าสู่กระบวนการเขียนโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนต่อไป นายรุ่งวิชิต คำงาม ผู้ประสานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของการนำกระบวนการ Story Board มาใช้กับเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษว่า “เพราะงานเยาวชนเป็นงานใหม่ของเราบวกกับเรามีความรู้เรื่องงานวิจัยท้องถิ่นและเครื่องมือการวิจัยอยู่แล้ว เราเลยดึงเอาเครื่องมือการวิจัยมาปรับใช้ให้เยาวชนได้รู้จักตัวเองโดยใช้แผนผัง ให้เขาเรียนรู้ชุมชนของตัวเองผ่านสื่อ อย่างน้อยให้เขาได้วาดแผนผังพื้นที่บ้านตัวเองแล้วเขาจะรู้ว่าบ้านตัวเองมีอะไรอยู่ที่ไหน พื้นที่มีปัญหาอะไร รู้จักพื้นที่ตัวเองมากขึ้น เรียนรู้บริบท รู้จักประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านผังชุมชนที่ได้ร่วมกันทำขึ้น” ซึ่งรูปแบบของกิจกรรมเน้นให้เยาวชนได้ฝึกมองชุมชนของตนเองผ่านการวาดภาพและระบายสีแผนที่หมู่บ้านของตน เยาวชนที่ได้ทำกิจกรรมต่างบอกว่า กิจกรรมนี้ทำให้เขาเข้าใจสภาพชุมชนของตนเองมากขึ้น มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีให้กับเพื่อนๆ ในกลุ่มและเพื่อนนอกกลุ่มได้เข้าใจชุมชนของตนเอง งตนเอง เมื่ ทั้งนี้ตัวแทนของกลุ่มเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษได้สะท้อนให้ฟังถึงกระบวนการเขียน Story Board ว่า “จากการทำกิจกรรมนี้ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ชุมชนของเรามากขึ้น รู้ว่าเราควรจะทำโครงการตรงไหนของชุมชน พื้นที่ไหนเหมาะกับการจัดโครงการ ช่วยให้การวางแผนของเราชัดขึ้น เพราะเราได้เรียนรู้ชุมชนของตัวเองผ่านการเขียน Story board บางที่ที่เราไม่เคยรู้ว่ามีอยู่แต่เมื่อเราได้ทำแผนที่ชุมชนก็ทำให้เรารู้จักสถานที่นั้นเพิ่มขึ้น” นางสาวนนท์ฤดี สุขชาติ กล่าว ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมอร แสนภูรา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรม Story Board ที่เด็ก ๆ ได้ทำว่า “สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากกระบวนการนี้ คือการคิดเชิงระบบ input process output outcome เด็กเรียนรู้จาก in put คือปัจจัยนำเข้าของเด็กที่เขามีอยู่ เด็กมีการเรียนรู้เชิงระบบ หากเราให้เยาวชนได้คิดเชิงระบบบ่อย ๆ เมื่อเด็กเจอปัญหาเขาจะสามารถมองเห็นแนวทางแก้ไข และมีความเข้าใจในระบบมากขึ้น เรียนรู้วิธีการสร้างระบบให้กับตัวเอง เด็กจะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนั้นได้ คิดทุกอย่างให้เป็นขั้นตอน กระบวนการที่เกิดจากการคิดในเชิงระบบนั้นมีปัจจัยเอื้อหลายอย่าง เช่น การมีส่วนร่วม เด็กจะเรียนรู้จากภาพที่เห็นเป็นการวางแผน เป็นการคาดการณ์จากสิ่งที่เขามองชุมชนของเขาเอง ในเรื่องของ Story Board เด็กจะเรียนรู้ชุมชนของตนเองว่ามีอะไรบ้าง ตอบโจทย์ชุมชนของเขาได้ว่าวันนี้เขามีอะไรที่เป็นทุนในชุมชนของตัวเอง ซึ่งวันนี้ถ้าเราเรียนรู้จากทุนที่เรามีอยู่ เด็กจะสามารถแยกแยะสิ่งเหล่านั้นได้ เขาจะรู้ว่าตัวเขาสามารถพัฒนาชุมชนเขาได้อย่างไรบ้าง” กิจกรรม Story Board เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการรวมตัวของกลุ่มพลังพลเมืองจังหวัดศรีสะเกษ ที่จะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนและกระบวนการเขียนโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง นี่เป็นเพียงพลังพลเมืองกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาพัฒนาบ้านเกิดของตน รื้อฟื้นศิลปะและวัฒนธรรมที่กำลังจะถูกลืมเลือนให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง ถึงแม้ในปัจจุบันค่านิยมและวัตถุนิยมจะเริ่มเข้าถึงตัวชุมชนและเยาวชนได้ง่ายขึ้น แต่ตัวเยาวชนเองนั้นก็มีภูมิต้านทานที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านั้น ตรงกันข้ามเขายังได้เรียนรู้ที่จะนำเอาสื่อออนไลน์มาเป็นเครื่องมือให้คนนอกพื้นที่รู้จักชุมชนของตนเองได้ง่ายขึ้น ท้ายที่สุดสิ่งที่ผู้จัดทำโครงการคาดหวังจากการทำ Story Board คือ เยาวชนสามารถเชื่อมโยงวิเคราะห์ปัญหาภายใต้แผนผังชุมชนที่พวกเขาได้ลงมือทำ และสามารถนำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาพัฒนาชุมชนของตนเองผ่านการคิดเชิงระบบ อาจจะไม่ใช่แค่การมองเห็นเพียงแค่ในมุมของปัจจุบัน แต่เขาจะสามารถมองเห็นอนาคตและสามารถวางแผนการพัฒนาต่อยอดโครงการของเขาต่อไปได้นั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ