กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--บ้านปู
จากมหาอุทกภัยปี 2554 นับเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนหมู่ที่ 1,2 และ 3 บ้านเขาสมอคอน จ.ลพบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมอย่างหนัก บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่างๆจมอยู่ใต้น้ำกว่า 2เมตร ซึ่งบ้านปูฯได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดี แม้วันนี้จะไม่หลงเหลือร่องรอยความเสียหายแล้ว ทว่าบ้านปูฯยังไม่หยุดการให้ความช่วยเหลือแต่เพียงเท่านั้น ด้วยการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน บริษัทฯจึงเดินหน้าดำเนินงาน"โครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนชุมชนบ้านเขาสมอคอน"เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เป้าหมายหลักของ"โครงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนบ้านเขาสมอคอน" ไม่ใช่แค่เพียงช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถฟื้นฟูชุมชนและสภาพความเป็นอยู่จากความเสียหายจากมหาอุทกภัยเท่านั้น แต่ด้วยการยึดมั่นในปณิธาณการดำเนินธุรกิจที่ว่า "อุตสาหกรรมที่ดีจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม"เราจึงเดินหน้าพัฒนาชุมชนต้นแบบทั้ง3 ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วจะเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆต่อไป"
โครงการหลักในการพัฒนาชุมชนที่บ้านปูฯ ได้ริเริ่มและวางแนวทางให้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือกิจกรรมระยะสั้นได้แก่การฟื้นฟูและซ่อมแซมบ้านเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม การสนับสนุนเรื่องสาธารณูปโภคเบื้องต้น การติดตั้งเครื่องกรองน้ำประจำหมู่บ้าน เป็นต้น ต่อมาจึงได้เริ่มกิจกรรมระยะกลางโดยเน้นการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนปุ๋ย “กลุ่มสัจจะชาวนาบ้านเขาสมอคอน” ซึ่งบ้านปูฯ สนับสนุนเงินทุนตั้งต้นและเงินสมทบเพิ่มเติมรวมประมาณ 1,825,850บาท และให้ชาวบ้านในชุมชนเรียนรู้การบริหารจัดการกองทุนร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนยืมปุ๋ยจากกองทุนไปใช้ในการทำนาโดยไม่เสียดอกเบี้ย เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนนอกจากนี้บริษัทฯยังได้จัดตั้งกลุ่มเยาวชนจิตอาสา เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์แก่คนรุ่นใหม่ เช่น ส่งเสริมให้จัดกีฬาและกิจกรรมสันทนาการในงานวันแม่ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติเป็นต้น ในปัจจุบันบริษัทฯกำลังดำเนินกิจกรรมระยะยาว เน้นการพัฒนาอาชีพและทักษะในการบริหารจัดการตนเอง ตัวอย่างโครงการได้แก่ การปลูกชะอม และมะนาวนอกฤดูเพื่อเพิ่มรายได้แก่ชาวบ้านในช่วงนอกฤดูการทำนา ปัจจุบันมีสมาชิกร่วมโครงการปลูกมะนาวทั้งสิ้น 39 ราย ปลูกมะนาวทั้งหมด 114 ต้น ขณะที่ชะอมมีสมาชิกร่วมโครงการ 20 ราย มีจำนวนต้นชะอมรวม 1,430 ต้นการส่งเสริมการทำนาอินทรีย์ บ้านปูฯได้ประสานกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นำข้าวพันธุ์สินเหล็กซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดพันธุ์ข้าวที่ดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะมีน้ำตาลต่ำจึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันปัจจุบันมีชาวนาที่ร่วมโครงการนำร่องปลูกข้าวอินทรีย์จำนวน 5 ครัวเรือน คลอบคลุมพื้นที่กว่า 65 ไร่ นอกจากนี้บริษัทฯยังส่งเสริมการทำปุ๋ยชีวภาพ และการเพาะเห็ด เป็นต้น
จากความทุ่มเทของบ้านปูฯและความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน วันนี้เมล็ดพันธุ์ที่บ้านปูฯและชาวบ้านได้ร่วมกันหว่านได้เริ่มผลิดอกออกผลให้เห็นแล้ว จากเดิมที่ชาวบ้านมีรายได้จากทำนาเพียงอย่างเดียว ซึ่งแต่ละปีทำได้เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น เพราะต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก ปัจจุบันชาวบ้านได้เรียนรู้และหันมาปลูกชะอมและมะนาวนอกฤดูกาล ซึ่งในอนาคตจะช่วยให้มีรายได้เสริม คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากมะนาวและจำหน่ายได้ในเดือนเมษายน 2558ขณะที่ผลผลิตชะอมเริ่มจะเก็บเพื่อบริโภคและขายได้บ้างแล้ว นอกจากนี้การทำนาอินทรีย์เพาะปลูกข้าวพันธุ์สินเหล็กช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เนื่องจากข้าวสินเหล็กขายได้ราคาดี เฉลี่ย 25,000บาทต่อตัน และมีตลาดรองรับมาก ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงและสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย อันเนื่องมาจากพิษสารเคมีที่มาจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลง โดยข้าวพันธุ์สินเหล็กมีแนวโน้มจะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆเพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจสุขภาพและนิยมบริโภคสินค้าปลอดสารพิษมากขึ้น
นายสนอง สอาดเอี่ยม หัวหน้ากลุ่มนาอินทรีย์ ชุมชนบ้านเขาสมอคอน กล่าวถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นว่า “หลังจากที่บ้านปูฯได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์มามอบให้ ผมก็ได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากนาเคมีมาสู่เกษตรอินทรีย์ แม้วิธีการเพาะปลูกจะยุ่งยากกว่า แต่ผลที่ได้นั้นคุ้มค่า คือ ได้ข้าวที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ต้นทุนลดลงเพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อสารเคมีราคาแพง รายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากขายได้ราคาดี คุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการที่ไม่ต้องคลุกคลีกับสารเคมี นอกจากนี้สิ่งที่ได้เรียนรู้ทำให้ผมและชาวบ้านสามารถทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องชาวนาคนอื่นๆ ปลูกข้าวพันธุ์สินเหล็กกันให้มากขึ้น”
“การที่ชุมชนบ้านเขาสมอคอนเข้มแข็งและมีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ชัดเจนขึ้นไม่ได้เกิดจากการสนับสนุนจากบ้านปูฯเพียงลำพัง หากแต่อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจและความมุ่งมั่นของผู้นำและคนในชุมชนที่ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนของตัวเอง สิ่งที่บ้านปูฯ นำมาช่วยคือเงินทุนสนับสนุนรวมทั้งองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ และคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชาวบ้าน พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการตนเอง โดยการจัดกิจกรรมฝึกอบรม และศึกษาดูงาน เช่น การนำชุมชนไปศึกษาดูงานชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่ชุมชนบ้านจำรุง อ.แกลง จ.ระยอง และการเชิญผู้นำชุมชนจากบางสะพานที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์มาแบ่งปัน
ประสบการณ์ สิ่งต่างๆเหล่านี้หากปราศจากการลงมือทำด้วยตัวเองของชาวบ้านในชุมชนและการสนับสนุนของผู้นำชุมชนและองค์กรในท้องถิ่นความสำเร็จก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เราจึงหวังว่าชุมชนบ้านเขาสมอคอนจะเป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างที่เดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่แม้ว่าจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่สามารถเริ่มที่จะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไปได้แล้ว” นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้าย