กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เผย โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แนะ ป้องกันปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคโดยเริ่มต้นที่บ้าน
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและในสังคมเมือง โดยที่ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของการเกิดโรคส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพของปัจเจกบุคคล จากข้อมูลสถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี พ.ศ.2554-2556 พบว่าอัตราตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดต่อประชากร 100,000 คนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี พ.ศ.2556 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คนหรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน
นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าโรคหัวใจขาดเลือดยังคงมีความรุนแรงเพราะอัตราตายและอัตราผู้ป่วยในด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นว่าโรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่มีความรุนแรงและต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและควบคุมก่อนที่จะเกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น โดยประชาชนสามารถป้องกันปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เองโดยเริ่มต้นที่บ้าน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดของคุณและครอบครัว ได้ดังนี้
1. การคัดเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจมาเก็บไว้ที่บ้าน
2. ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่มักจะมีส่วนประกอบของน้ำตาล เกลือและไขมันในปริมาณที่สูง
3. รับประทานผลไม้สดและผักสดในมื้ออาหารของคุณหรืออาจจะสลับขนมหวานกับผลไม้อื่นๆ
4. เตรียมอาหารเพื่อสุขภาพในการรับประทานที่โรงเรียนหรือเป็นอาหารกลางวันในที่ทำงาน
5. การห้ามสูบบุหรี่ในบ้านหยุดการสูบบุหรี่ในบ้านเพราะจะส่งผลดีต่อสุขภาพของคุณเองและทุกคนในครอบครัวด้วย
6. การเลิกสูบบุหรี่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆของคุณกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง
7. จัดเวลาการดูทีวีเล่นคอมพิวเตอร์ เล่นเกมส์ออนไลน์ และ Social media ที่บ้านให้เหมาะสม ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง/วัน
8. การจัดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การปั่นจักรยาน เล่นบอล หรือการเดินเล่นในสวน
9. การเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อประเมินความเสี่ยงของคุณ เมื่อทราบระดับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) และปัจจัยเสี่ยงแล้ว คุณจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแผนการรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ทั้งนี้ ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดวันรณรงค์หัวใจโลก ให้สอดคล้องกับสากลเป็นวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี สำหรับปีนี้ (2557) ใช้ประเด็นรณรงค์หัวใจโลก คือ “ประสานด้วยใจ เดินหน้าไปกับโลกสากลเพื่อยังผลให้ หัวใจแข็งแรง”นายแพทย์ศรายุธ กล่าวปิดท้าย.