สธ.เตือนสุราต้นเหตุใหญ่ของอุบัติเหตุ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 7, 1998 17:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--7 ม.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ขับขี่รถหากดื่มสุราจะมีผลร้ายต่อตัวเองทั้งในด้านกฎหมาย และชีวิตอาจจบสิ้นก่อนวัยอันควร
นายแพทย์ชาติ พิชญางกูร อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ มักจะมีอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุของอุบัติเหตุในประเทศไทยส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นหลัก โดยกว่า 60% เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2541 นี้ ประเทศไทยจัดเป็นปีท่องเที่ยวไทย (AMAZING THAILAND) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยต่อผู้ขับขี่เป็นอย่างยิ่ง ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะบนท้องถนน และยังสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน ดังนี้ ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 12 เมษายน 2540 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 บังคับให้บริษัทผู้ผลิตและผู้นำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ที่จำหน่ายในประเทศไทยต้องติดฉลากคำเตือนข้างขวดว่า "การดื่มสุรา ทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง" หากมีการฝ่าฝืนจะถูกลงโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้เพราะ แอลกอฮอล์มีผลในการทำลายเซลตับและสมองจะเสื่อมลง ความสามารถในการบังคับขับขี่รถลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่เมาสุรา ขับรถด้วยความเร็วอย่างประมาท จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พบว่า ขณะที่ขับรถด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตร / ชั่วโมง แล้วหยุดรถกระทันหัน จะทำให้เกิดแรงกระแทกต่อร่างกาย เท่ากับรถตกจากที่สูง 14 เมตร (ตึก 5 ชั้น)
นายแพทย์ชาติ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการตามกฎหมาย ซึ่งประกาศใช้ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 ในการตรวจจับผู้ขับขี่เมาสุราเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกรมตำรวจและกรมการขนส่งทางบกในการตรวจผู้ขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยผู้ขับขี่ผู้ขับขี่ที่เมาสุรา ได้กำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัม % โดยการตรวจทางลมหายใจ หากฝ่าฝืนมีโทษถูกปรับ 2,000 - 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัม% นั้น จะทำให้การตัดสินใจช้าลง สายตาเริ่มไม่ดีความสามารถในการขับรถลดลง โดยเฉลี่ยร้อยละ 8 โอกาสเกิดอุบัติเหตุเป็น 2 เท่าของผู้ไม่ดื่มสุรา ขณะที่ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 80 มิลลิกรัม% จะทำให้สายตาเลวลง ประสาทและกล้ามเนื้อเสื่อมหน้าที่มากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุเป็น 3 เท่าของผู้ที่ไม่ดื่มสุรา ในแต่ละประเทศมีการกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพื่อการตรวจจับต่างๆกัน เช่น ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0 มิลลิกรัม% ในประเทศเยอรมันตะวันออก ตุรกี , ระดับ 20 มิลลิกรัม% ในโปแลนด์ , ระดับ 30 มิลลิกรัม% ในบุลกาเรีย เช็คโกสโลวาเกีย , ระดับ 50 มิลลิกรัม% ในนอร์เวย์ ยูโกสลาเวีย กรีช เนเธอร์แลนด์ สวีเดิน , ระดับ 80 มิลลิกรัม% ในเบลเยี่ยม เดนมาร์ค ลิคเตนสไตน์ ลุกเซมเบิร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮังการี สเปญ ออสเตีย ปอร์ตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมันตะวันตก ฟินแลนด์ , ระดับ 100 มิลลิกรัม% ในโรมาเนีย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีกฎหมายออกมารองรับในการตรวจจับผู้ขับขี่เมาสุรา บังคับผู้ผลิตสุราให้มีฉลากคำเตือนแล้วก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าให้ผู้ขับขี่ดื่มสุราได้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไม่ควรดื่มสุราในขณะขับขี่ได้จะเป็นการดีที่สุด--จบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ