กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 เวลา 09.30 น. ที่ โรงละครแห่งชาติ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ) กล่าวในฐานะประธานในพิธีเปิดงาน “ค่านิยมไทย สร้างสังคมไทยเป็นสุข” ว่า จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศแนวทาง (Roadmap) การเดินหน้าประเทศไทยไปสู่การเสริมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็ง มีความสงบสุขและยั่งยืน โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศค่านิยมหลัก 12 ประการ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง โดยได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการเสริมสร้างค่านิยมต่างๆร่วมกัน เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของคนไทย ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลง และการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบัน โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินเพชรในเพลงจาก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) วงดนตรีสุนทราภรณ์ ผู้นำ 5 ศาสนา สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และนักเรียน นักศึกษา กว่า 1,000 คน เข้าร่วมงาน ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการ การฉายภาพยนตร์ชุด “แด่พระผู้ทรงธรรม” เรื่อง “ข่าวที่ไม่สำคัญ” การเสวนาเรื่อง “ค่านิยมไทยในมิติศาสนิกสัมพันธ์” การแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิตและการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน และพร้อมใจกันประกาศเจตนารมณ์ในการใช้มิติทางวัฒนธรรมในการเสริมสร้างค่านิยมความเป็นไทย และค่านิยมหลัก 12 ประการ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ อย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง และยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(ปลัด.วธ) กล่าวว่า การดำเนินการเสริมสร้างค่านิยมหลัก และการนิยมความเป็นไทยของกระทรวงวัฒนธรรมในระยะเร่งด่วนในปีงบประมาณ 2557 นั้น กระทรวงวัฒนธรรมได้พิจารณาคัดเลือกค่านิยมหลัก และการนิยมไทยที่สำคัญเพื่อดำเนินการประกอบด้วย การส่งเสริมค่านิยมหลักทั้ง 12 ประการ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการประกวดศิลปะ (ทัศนศิลป์) และโครงการเผยแพร่สื่อส่งเสริมค่านิยมและความเป็นไทย เช่น จัดพิมพ์หนังสือ ประกวดละคร ประกวดเรียงความ สร้างภาพยนตร์ แอนิเมชั่น คลิปวีดิโอ และการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ สำหรับการนิยมไทย มี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม (ยิ้ม ไหว้ ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย) และโครงการประกวดดนตรีไทย และดนตรีพื้นบ้านเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 4 โครงการนำร่องนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และจัดการรณรงค์เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่สะท้อนค่านิยมไทย และเอกลักษณ์ไทยให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
หลังจากนั้น กระทรวงวัฒนธรรมจะวางแผนการดำเนินงานในระยะยาว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป โดยมีแผนงาน/โครงการเกี่ยวกับการเสริมสร้างค่านิยมหลักที่ครอบคลุมทุกเรื่อง สำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มีการบูรณาการทั้งในและนอกกระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมให้องค์กรภาคเอกชน และภาคธุรกิจร่วมดำเนินการในลักษณะของงานที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพต่อไป