กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ไอทูซี คอมมิวนิเคชั่นส์
KTIS – กลุ่มเคทิส ก้าวอีกขั้น จับมือ PTTGC ศึกษาความเป็นไปได้นำไทยสู่ Biohub สร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวไร่อ้อย ชุมชน และประเทศชาติอย่างยั่งยืน แย้มอ้อยมีศักยภาพไร้ขีดจำกัด ยังทำอะไรได้อีกมากนอกจากน้ำตาล เยื่อกระดาษ เอทานอลและไฟฟ้าชีวมวล ยืนยันนโยบาย Zero Waste ซึ่งไม่เหลือของเสียที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทิส” ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในโครงการความร่วมมือครั้งสำคัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Biohub (ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ) ในประเทศไทย กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และจะผลักดันโครงการไปสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบทางการเกษตร ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างให้เกิดการลงทุนจากผู้พัฒนาและเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้อุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมสามารถเติบโต ก่อให้เกิดคุณค่าและคุณประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืนต่อไป
“ตามข้อตกลงนั้น จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ ในด้าน Business model, โครงสร้างโครงการ, วัตถุดิบ, แผนการลงทุน และ Biohub Road Map โดยมีระยะเวลาศึกษาประมาณ 8 เดือน” นายประพันธ์กล่าว
ด้านนายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กลุ่มเคทิส กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทิส” รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกเป็น Potential Partner ในโครงการความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Biohub ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายแห่งชาติในการส่งเสริม Green Industry ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเคทิสก็ยินดีที่จะใช้ประสบการณ์กว่า 50 ปี ที่เคทิสดำเนินธุรกิจเคียงคู่มากับชาวไร่อ้อย เพื่อผลิตน้ำตาลทราย อีกทั้งต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์พลอยได้อย่างครบวงจรที่นำมาซึ่ง Zero Waste เพื่อสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเต็มที่
“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีแหล่งวัตถุดิบที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอ้อยหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์พลอยได้ และเคทิสก็เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งนี้ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์พลอยได้ เช่น เอทานอล ยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดและเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก เพราะอ้อยมีศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งการผนึกกำลังกับ PTTGC เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Biohub จะมีส่วนช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวไร่อ้อย ชุมชน ไปจนถึงประเทศชาติ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว