กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สืบเนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนจึงทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติหลากหลายรูปแบบ อาทิ น้ำท่วมเฉียบพลัน ดินโคลนถล่ม หรือแม้กระทั่งภัยพิบัติอุบัติใหม่อย่างแผ่นดินไหวและส่งผลให้มีผู้ป่วยฉุกเฉินจากภัยพิบัติเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายกู้ชีพกู้ภัยในภาคเหนือจัดตั้งสมาคมกู้ชีพกู้ภัยภาคเหนือแห่งประเทศไทยขึ้น
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้สนับสนุนการจัดตั้งสมาคมกู้ชีพกู้ภัยภาคเหนือแห่งประเทศไทยขึ้น เนื่องด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการสร้างเครือข่ายในการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งในสถานการณ์ภัยพิบัติและการเจ็บป่วยฉุกเฉินในทุกกรณี ให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดตั้งสมาคมฯ ในครั้งนี้นั้นได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน 17 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการทำงาน โดยสมาคมฯ จะทำงานในรูปแบบของเครือข่ายที่คอยแบ่งปันอุปกรณ์ บุคลากร และแบ่งปันองค์ความรู้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในทุกจังหวัดของภาคเหนือ
“ที่ผ่านมาการทำงานของกู้ชีพกู้ภัยในหลากหลายพื้นที่จะเป็นการทำงานในลักษณะของหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดเท่านั้น ดังนั้นหากมีการร่วมกันทำงานในลักษณะของเครือข่ายเช่นนี้จะทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะเข้าไปประสานและสนับสนุนทั้งงบประมาณและองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการทำงานในลักษณะเครือข่ายแบบนี้ในทุก ๆ ภูมิภาค โดยขณะนี้การทำงานของสมาคมกู้ชีพกู้ภัยภาคเหนือแห่งประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเข้มแข็งและจัดเป็นต้นแบบได้ดีที่สุด นอกจากนี้สำหรับเครือข่ายกู้ชีพกู้ภัยในภูมิภาคอื่นๆ ก็กำลังรวมตัวกันเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีความครอบคลุมมากทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการสพฉ. กล่าว
ด้านนายกฤษฎา พรหมสิทธิการ ตัวแทนจากสมาคมกู้ชีพกู้ภัยภาคเหนือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานของสมาคมกู้ชีพกู้ภัยภาคเหนือแห่งประเทศไทยนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยส่วนแรกเป็นงานด้านวิชาการที่เราได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินภาครัฐและภาคเอกชน ปีพ.ศ. 2557 สำหรับผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินชมรมกู้ชีพกู้ภัยภาคเหนือ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทักษะและพัฒนามาตรฐานให้สมาชิกทุกคนทุกหน่วยได้เข้าใจและถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน และในส่วนที่สองเราได้จัดให้มีเวทีให้ทุกหน่วยงานได้มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ในการทำงานและให้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้นำไปปรับใช้ในองค์ของตนเองอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานกู้ชีพจากระดับชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ให้เป็น พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (EMT-B) ตามหลักสูตรของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และที่สำคัญที่สุดคือขณะนี้เราได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยกู้ชีพกู้ภัยของประเทศพม่าเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ( AEC) ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ครอบคลุมทั่วอาเซียนอีกด้วย