กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ธนาคารกสิกรไทย
กสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ทุ่ม 1,500 ล้าน ดันธุรกรรมการเงินดิจิตอลภายใต้แนวคิด BIZ Automation ตอบโจทย์และเพิ่มศักยภาพลูกค้าธุรกิจตามนโยบายรัฐ ช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการเติบโตให้ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยืนยันความเป็นผู้นำตลาด ทรานแซกชั่นแบงค์กิ้ง ด้วยสัดส่วนการตลาด 25% คาดภายใน 3 ปี เพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 30%
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันศักยภาพทางการแข่งขันของธุรกิจไทยอยู่อันดับที่ 37 จาก 148 ประเทศ จัดอยู่ในกลุ่มประเทศศักยภาพการแข่งขันปานกลาง เป็นรองจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและอีกหลายประเทศในเอเชียที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง ซึ่งได้เปรียบในด้านอินโนเวชั่น (Innovation) โดยไทยยังต้องพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้แข็งแกร่งขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งประสิทธิภาพด้านแรงงาน (Labor Market Efficiency) ความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technological Readiness) ศักยภาพทางการเรียนรู้และฝึกอบรมขั้นสูง (Higher Education and Training) และที่สำคัญคือ ศักยภาพด้านตลาดเงิน (Financial Market Development) โดยจะเห็นได้จากตัวเลขที่แม้จะมีการเติบโตของปริมาณธุรกรรมและมูลค่าธุรกรรมในประเทศช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 20% และ 8% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกมากเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ
ธนาคารกสิกรไทยจึงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกรรมการเงินดิจิตอล ให้กับลูกค้าธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้ใช้เม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาระบบไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อให้สามารถแข่งขันและรองรับธุรกรรมดิจิตอลในอนาคตที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันธนาคารได้วางรูปแบบการให้บริการธุรกรรมการเงินดิจิตอล ด้วยกลุ่มบริการผลิตภัณฑ์การเงินภายใต้แนวคิด BIZ Automation เพื่อยกระดับการให้บริการธุรกรรมการเงินดิจิตอลและร่วมผลักดันลูกค้าธุรกิจให้เติบโตตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิตอลของภาครัฐ โดย BIZ Automation จะช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง เช่น ลดต้นทุนเอกสาร เวลาในการทำงานและบุคลากร ลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบการบริการทางอิเล็คทรอนิกส์ที่มั่นใจได้ตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการค้าและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แปลงความยุ่งยากซับซ้อนของการทำธุรกรรมจำนวนมหาศาลในแต่ละวันทั้งกับลูกค้าและคู่ค้าธุรกิจ ให้ง่าย สะดวกสบายยิ่งขึ้น
สำหรับบริการที่จะครอบคลุมการทำธุรกรรมการเงินดิจิตอลภายใต้แนวคิด Biz Automation ประกอบด้วย 2 บริการหลัก ได้แก่ บริการจัดการด้านการเงิน (K-Cash Management) และบริการการค้าระหว่างประเทศ (K-International Trade) ซึ่งทั้ง 2 บริการอยู่บนฐานของการทำธุรกรรมการเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าธุรกิจใน 5 หมวดสำคัญ คือ
ทำธุรกรรมการเงินทั่วโลกได้ทุกที่ทุกเวลา (World Synchronization) ทั้งในและต่างประเทศ โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั่วโลก (Anytime Anywhere) ด้วยระบบการตรวจสอบยอดเงินและการเห็นสถานะทางการเงินของบริษัทในเครือได้แบบเรียลไทม์พร้อมรับเงินและชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล ผ่านเครื่องมือสื่อสารทุกรูปแบบ
บริการธุรกรรมการเงินได้หลากหลายช่องทาง (Multi Channel) โดยเฉพาะโลกการค้าดิจิตอลทางโทรศัพท์มือถือและออนไลน์ ทำธุรกรรมการเงินที่รวดเร็วและมั่นใจได้ว่าทุกธุรกรรมทั้งในและต่างประเทศของธุรกิจจะทำได้อย่างสะดวกสบาย
ทำธุรกรรมได้ด้วยสกุลเงินหลักทั่วโลก (Multi Currency) ช่วยให้การรับและจ่ายเงินจากการค้าระหว่างประเทศไม่ชักช้าและมีต้นทุนที่ถูกลง พร้อมรายงานสถานะทางบัญชีได้บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศง่ายแค่ปลายนิ้ว ทันต่อการแข่งขันในเวทีการค้าโลก
ทำธุรกรรมจำนวนมากได้ง่ายไม่วุ่นวาย (Multi Settlement) ไม่ว่าธุรกรรมการเงินประจำวันจะมีจำนวนมากแค่ไหนก็ทำได้ทันที สะดวก ง่าย ผ่าน Bulk Payment and Collection ช่วยให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้ครั้งละหลายๆ ธุรกรรมจบได้ในครั้งเดียวครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ
ธุรกรรมต่างประเทศถึงคู่ค้าได้ภายในวันเดียว (Time Guarantee) พร้อมการันตีทั่วโลก ช่วยให้ธุรกิจได้รับความสะดวก รวดเร็ว มั่นใจได้ หากธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศช้ากว่าที่การันตีไว้เพียงนาทีเดียว ลูกค้าธุรกิจไม่ต้องจ่ายค่าบริการแม้แต่บาทเดียว
นายวศิน กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในการใช้บริการธุรกรรมการเงินผ่านธนาคารเป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดธุรกรรมทางการเงิน (Transaction Banking) โดยมีสัดส่วนการตลาดถึง 25% ตั้งเป้ารักษาอันดับ 1 และเพิ่มสัดส่วนการตลาดเป็น 30% ภายใน 3 ปีข้างหน้า มั่นใจรายได้ค่าธรรมเนียมโต 10% ตามเป้าหมายปีนี้ ทำให้สัดส่วนค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวม (Fee to Total Income) สูงถึง 57%