กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค
กระทรวงไอซีทีและอีจีเอ จับมือพันธมิตรซิป้า ,ซอฟต์แวร์ พาร์ค และ เนทเทค ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าผลักดัน “ดิจิทัล อีโคโนมี” จัดโครงการแข่งขันประกวดผลงานการพัฒนา Mobile Application ภาครัฐ หรือ MEGA 2014 (Mobile e-Government Award 2014) หวังสร้างโมบายแอปพลิเคชั่นภาครัฐที่ตรงตามความต้องการของประชาชน เผย 10 โมบาย แอปพลิเคชั่นภาครัฐที่คนไทยต้องการมีไว้ใช้ที่สุด
นายสมโภชน์ กาญจนาภรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า จากนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักบนพื้นฐานของ "ดิจิทัล อีโคโนมี" หรือหลักเศรษฐกิจดิจิทัล โดยต้องการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ทางไอซีที ได้มอบนโยบายเร่งด่วนในการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้ โดยไอซีทีจะทำหน้าที่เสมือนเลขานุการ (Secretariat) ในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งตัวอย่างที่ต้องเร่งดำเนินการคือสร้างระบบบริการภาครัฐที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย เช่น การสร้างแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
นายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EGA เปิดเผยว่า ในมิติของการบริหารงานภาครัฐ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ Digital Economy ซึ่ง EGA ได้วางโครงสร้างพื้นฐานของระบบไอทีภาครัฐไว้กว้างขวางแล้ว โดยสำหรับงานซอฟต์แวร์ได้มีความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย ในโครงการสร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์เพื่อการบริการภาครัฐ (Software Innovation for e-Government หรือ SIGO) ซึ่งมุ่งสร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์เพื่อภาครัฐเป็นหลัก จากนั้นจึงต่อยอดเป็นบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์เพื่อภาครัฐ (G-SaaS) ให้ภาครัฐเลือกใช้งานผ่านระบบคลาวด์ภาครัฐ (G-Cloud) และเริ่มส่งเสริมงาน Mobile Application ด้วยการเปิดตัว GAC หรือ Government Application Center ที่รวบรวมแอปพลิเคชั่นภาครัฐไว้ด้วยกัน ดังนั้นแล้วโครงการแข่งขันประกวดผลงานการพัฒนา Mobile Application ภาครัฐ หรือ MEGA 2014 ครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรจากโครงการ SIGO
ประเด็นสำคัญของ Digital Economy คือการทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น ดังนั้น การต่อยอดงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการขยายตลาดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ผ่านโครงการ MEGA 2014 จึงสอดรับตามนโยบายขับเคลื่อนประเทศสู่ Digital Economy ซึ่งจะเกิดผลทั้งงานบริการภาครัฐที่สมบูรณ์แบบ ตรงตามความต้องการของประชาชน ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นตลาดของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไปด้วย
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EGA เปิดเผยว่า จากการจัดงาน e-Government day เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา EGA ได้เปิดตัว GAC หรือ Government Application Center พร้อมกันนั้นได้ทำการสำรวจแอปพลิเคชั่นที่ประชาชนต้องการ จากประชาชนที่เข้าร่วมงานจำนวน 800 คน ปรากฏว่า 10 อันดับที่ได้คือ 1.แอปพลิเคชั่นตรวจสอบเส้นทางการเดินรถสาธารณะ (รถเมล์,bts,mrt,รถไฟ) 2.แอปพลิเคชั่นรวมบริการข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของภาครัฐหรือ GCC1111 3.แอปพลิเคชั่นชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านมือถือ 4.แอปพลิเคชั่นรายงานสภาพการจราจรแบบ real time 5. แอปพลิเคชั่นชำระภาษีรถยนต์ผ่านโทรศัพท์มือถือ 6.แอปพลิเคชั่นตรวจสอบรถหาย 7.แอปพลิเคชั่น ตรวจสอบพื้นที่ตำรวจนครบาล พร้อมข้อมูลเปรียบเทียบปรับ กรณี ใบสั่งของตำรวจ รวมถึงสถานีตำรวจ แผนที่ของ สน. 8.แอปพลิเคชั่นตรวจสอบข้อมูลทางการเกษตร 9.แอปพลิเคชั่นโหลดสำเนาทะเบียนบ้านผ่านมือถือ และสุดท้าย 10. แอปพลิเคชั่นตรวจสอบสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน
จุดสังเกตจากผลการสำรวจพบว่าประชาชนต้องการแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน รวมถึงเป็นข้อมูลภาครัฐที่สามารถแบ่งปันกับประชาชนได้ทันที และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาคือพบว่าความหลากหลายในแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการยังมีไม่มากนัก จึงทำให้ EGA จัดโครงการ MEGA 2014 ขึ้นมา โดยความร่วมมือระหว่าง EGA และหน่วยงานพันธมิตรอีก 3 หน่วย คือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA, เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค
MEGA 2014 แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทนักพัฒนาอิสระ นิสิต นักศึกษาและบุคคลทั่วไป และประเภทผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เกณฑ์การตัดสิน ประกอบด้วย 1.แนวความคิด 2.ประโยชน์การนำไปใช้งาน 3.การออกแบบระบบ และ 4.ความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นระบบบริการ สำหรับระยะเวลาการจัดประกวด เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2557 – มีนาคม 2558 และมีรางวัลรวมมูลค่ากว่า 600,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้เข้ารับการพัฒนาทักษะด้าน Mobile Application จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และมีโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและกรอกใบสมัครออนไลน์ได้ที่ mega2014.apps.go.th
นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา SIPA ทำหน้าที่สนับสนุนซอฟต์แวร์รุ่นใหม่มาโดยตลอด อย่างการประกวด Thailand ICT Award หรือ TICTA ก็มีการแบ่งหมวดซอฟต์แวร์ภาครัฐและซอฟต์แวร์ที่ใช้งานกับโทรศัพท์มือถือไว้ แต่การประกวด MEGA 2014 นี้ถือเป็นการประกวดแนวใหม่ เป็นแอปพลิเคชั่นเพื่อการบริการประชาชนจริงๆ ถือเป็นการฉีกแนวแอปพลิเคชั่นในปัจจุบันที่เน้นด้านบันเทิงเสียมากกว่า ดังนั้น นอกจากการช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เข้าประกวดและเป็นกรรมการตัดสิน SIPA ยังสนับสนุนเพื่อต่อยอดให้ซอฟต์แวร์เหล่านี้ประสบความสำเร็จต่อไป เนื่องจากเป็นการส่งเสริมให้ไอทีได้เข้าไปรับใช้ประชาชนอย่างทั่วถึง
นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายหลักที่โครงการ MEGA ต้องการคือกลุ่มระดับนักศึกษา และกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป ทั้งสองกลุ่มนี้ซอฟต์แวร์พาร์คได้เข้าไปดูแลบ่มเพาะมาโดยตลอด ตั้งแต่โครงการเถ้าแก่น้อยที่เน้นกลุ่มนักศึกษา เรื่อยมาจนถึงกลุ่ม NEC ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตัดสินใจเปลี่ยนจากลูกจ้างมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ จนถึงโครงการ Success ซึ่งเป็นกลุ่มนักพัฒนาที่ต้องการขยายธุรกิจ จึงกล่าวได้ว่า MEGA เป็นอีกหนึ่งโครงการที่่พลิกโฉมวงการซอฟต์แวร์ในประเทศอีกครั้ง ทางซอฟต์แวร์พาร์คจึงพร้อมสนับสนุนให้กลุ่มซอฟต์แวร์ในเครือข่ายเข้าร่วมสมัคร โดยกระจายข่าวสารผ่านเครือข่ายและการอบรมที่มีกว่า 10 โปรแกรม พร้อมนี้ จะทาบทามนักพัฒนาที่คาดว่าจะสร้างผลงานในโครงการนี้ได้ดีลงสมัครด้วย
หลังจากนั้น จะร่วมส่งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้าร่วมการตัดสิน ซึ่งจะทำให้ทั้งเกณฑ์การตัดสินรวมถึงมาตรฐานต่างๆ เทียบเคียงกับการประกวดในระดับนานาชาติ และซอฟต์แวร์พาร์คจะมอบรางวัลพิเศษให้กับผู้ชนะเลิศในลำดับ 1-2-3 และรางวัลชมเชย เข้าโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารางวัลละประมาณ 50,000 บาท ซึ่งรางวัลนี้จะแยกจากรางวัลของ EGA ถือเป็นรางวัลพิเศษที่จัดเพิ่มขึ้นมา
ดร.กัลยา อุดมวิทิต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารและสนับสนุนงานวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเนคเทคได้นำร่องใช้ข้อมูลภาครัฐมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น พร้อมทั้งสร้าง API ระบบเปิดเพื่อให้สามารถต่อยอดงานวิจัย ดังนั้น จึงสามารถแบ่งปันประสบการณ์ดังกล่าวให้กับผู้เข้าประกวด MEGA 2014 ได้นอกเหนือจากเป็นกรรมการการตัดสินโดยปกติ และด้วยความเชี่ยวชาญยังสามารถทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าประกวดได้ด้วย ซึ่งเนคเทคคาดหวังว่าจะเกิดการบูรณาการข้อมูลเพื่อเกิดเป็นแอปพลิเคชั่นที่ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด