กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สถาบันไทยพัฒน์
สถาบันไทยพัฒน์ ตั้งหน่วยงาน ESG Rating พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ อิงมาตรฐานโลกด้านการประเมินความยั่งยืน หรือ GISR Standard เพื่อสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG ของบริษัทจดทะเบียนให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ตั้งขึ้นหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วม UN Sustainable Stock Exchanges Initiative[1] เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้องค์กรและผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืน เป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาล คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งสนับสนุนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ Certified Partner ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ GRI ครอบคลุมการดำเนินงานใน 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กรของ GRI มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ล่าสุดได้เข้าเป็นองค์กรร่วมดำเนินงานในความริเริ่มสากลด้านการประเมินความยั่งยืน หรือ Global Initiative for Sustainability Ratings (GISR) เพื่อผลักดันมาตรฐานการประเมินความยั่งยืน ร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก ได้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาฐานข้อมูลความยั่งยืนของธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ จึงได้จัดตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้นโดยนำหลักการแนวทางในมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของ GISR มาใช้พัฒนาระบบการประเมินความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG ของบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมใน Expert Advisors Council (EAC) ของ GISR ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวชี้วัด บริบทความยั่งยืน และสารัตถภาพให้แก่คณะกรรมาธิการด้านเทคนิคและฝ่ายเลขานุการของ GISR ต่อการพัฒนามาตรฐานการประเมินความยั่งยืน ซึ่งจะมีการประชุมกันทุกรายไตรมาส
ก่อนหน้านี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้เป็นผู้พัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินให้กับโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนที่ร่วมกันดำเนินงานโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสถาบันไทยพัฒน์ รวมทั้งเป็นผู้จัดทำ CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Indicator ตามแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน ให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้ บริษัทจดทะเบียนสามารถนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาแนวทางและมาตรการในการสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกรอบหรือมาตรฐานที่เป็นสากล
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ กล่าวว่า “การตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินการได้ดีให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มโอกาสการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนจากกลุ่มผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG เพื่อสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก”
เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา เม็ดเงินจากกลุ่มผู้ลงทุนที่คำนึงถึงเรื่อง ESG มีจำนวนราว 3.74 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.3 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 33.3 ล้านล้านเหรียญในปัจจุบัน หรือเทียบได้ว่า ในทุกๆ 9 เหรียญเงินลงทุน จะมี 1 เหรียญที่ลงทุนโดยใช้เกณฑ์ ESG ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน
บริษัทจัดทำข้อมูลหลักทรัพย์รายใหญ่ระดับโลก อาทิ เอสแอนด์พี ดาวโจนส์ ฟุตซี่ เอ็มเอสซีไอ ต่างมีการพัฒนาดัชนีด้านความยั่งยืนโดยใช้ข้อมูล ESG เป็นฐานในการคำนวณ การที่บริษัทจดทะเบียนไทยมีการเปิดเผยข้อมูล ESG เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนไทยได้เข้าอยู่ในดัชนีเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกใน DJSI ประจำปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 10 บริษัท ได้แก่ BANPU, CPN, IRPC, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCC, TOP, TUF
บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปที่ต้องการพัฒนาระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG หรือต้องการจัดทำข้อมูล ESG เพื่อการเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.esgrating.com
เป็นความริเริ่มร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ หลักการสหประชาชาติว่าด้วยการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (UNPRI) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ความริเริ่มด้านการเงินภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEPFI) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC)