กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลการดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม SMEs ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AECตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2555-2556 จำนวนประมาณ 28,000 รายใน7ภาคอุตสาหกรรมอันได้แก่ เกษตรแปรรูปอัญมณีและเครื่องประดับไม้และเครื่องเรือน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าแฟชั่นผ่านการดำเนินงาน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. พัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรกลยุทธ์การตลาด AEC การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สำหรับ AEC 2. พัฒนาสถานประกอบการเป้าหมาย โดยการส่งที่ปรึกษาลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่สถานประกอบการ และ3. สร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ โดยการสร้างและขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนแก่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความพร้อมของผู้ประกอบการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงรับและเชิงรุกเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 อย่างไรก็ตามก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกสอ.ตั้งเป้าหมายในการสร้างความพร้อมผู้ประกอบการรวมไม่ต่ำกว่า 40,000ราย
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตลอดจนเข้ารับปรึกษาและสอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์022024414–18หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยตลอดปี งบประมาณ 2555 – 2556 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อสร้างความตระหนักและพร้อมรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้กว่า 28,000 ราย และเพื่อเป็นการสร้างความต่อเนื่องในการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการตลอดปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการประกอบการที่เป็นเลิศ โดยมุ่งเน้นในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ 7 กลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มของการขยายโอกาสทางการค้า การลงทุนให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงรับและเชิงรุก อันได้แก่ 1. เกษตรแปรรูป 2.อัญมณีและเครื่องประดับ 3.ไม้และเครื่องเรือน 4. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 5. ยานยนต์และชิ้นส่วน 6.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ 7. สินค้าแฟชั่น
อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กำหนดกลยุทธ์เชิงรับสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อม โดยการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดให้สามารถต่อสู้กับสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะมารุกตลาดไทย ในขณะที่วิสาหกิจขนาดกลางจะเน้นกลยุทธ์เชิงรุก คือ มุ่งเจาะตลาดต่างประเทศ และร่วมลงทุนกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่ออาศัยประโยชน์จากทรัพยากรด้านต่างๆ โดยเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพผ่าน โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยมีรายละเอียดการดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมและปรับตัวตั้งเป้า 12,000 ราย ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรต่างๆ อาทิ กลยุทธ์การตลาด AEC การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สำหรับ AEC การบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับความหลากหลายจากแรงงานต่างชาติ หรือ ภาษีในกลุ่มประเทศอาเซียน ฯลฯ
2. กิจกรรมการพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมายเป็นการส่งที่ปรึกษาเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำแก่สถานประกอบการในการจัดทำแผนกลยุทธ์ในการปรับตัวและดำเนินตามแผนการปรับตัวเพื่อให้พร้อมรับ AEC มีโรงงานเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 600 โรงงาน
3. การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อสร้างและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น มีเป้าหมาย 10 เครือข่าย
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาสถานประกอบการได้แบ่งกลุ่มวิสาหกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มเรดี้ (Ready) สถานประกอบการที่มีศักยภาพสูง มีสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในประเทศ และมีประสบการณ์ทดลองสินค้าในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนพร้อมบุกตลาด AEC ทันที 2. กลุ่มคอนเนค (Connect) เป็นสถานประกอบการที่มีศักยภาพปานกลางและมีความพร้อมด้านการผลิตแต่ยังต้องได้รับการพัฒนาระบบการบริหารการจัดการตลาดเชิงรุกและ 3.กลุ่มมูฟ(Move) สถานประกอบการที่มีศักยภาพในระดับท้องถิ่นหรือเขตพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนที่ต้องการเปิดตลาด AEC กับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ กสอ.ได้ส่งที่ปรึกษาเข้าไปให้คำปรึกษาและข้อแนะนำต่างๆ แก่สถานประกอบการในแต่ละกลุ่มตามศักยภาพเพื่อให้พร้อมรับการเปิดการค้าอาเซียนทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ โดยมีสัดส่วนของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแบ่งเป็นกลุ่ม Ready ร้อยละ 29 กลุ่ม Connect ร้อยละ 38 และกลุ่ม Move ร้อยละ 33
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้นำผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการไปสร้างเครือข่ายทางการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน +3 อันได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเน้นกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพเหมาะสมกับแต่ละประเทศ ดังนี้ เมียนมาร์– สิ่งทอ เสื้อผ้าและอาหารแปรรูป สปป.ลาว – สินค้าอุปโภคบริโภค กัมพูชา–สินค้าอุปโภคบริโภค เวียดนาม-สิ่งทอเครื่องหนัง และรองเท้า มาเลเซีย-อาหาร และผลิตภัณฑ์ฮาลาล อินโดนีเซีย–ชิ้นส่วนยานยนต์ สิงคโปร์–อัญมณีและเครื่องประดับจีน(เซียงไฮ้) - อาหารแปรรูป จีน(หนานหนิง) – เสื้อผ้า อาหารและเครื่องอุปโภคบริโภค ญี่ปุ่น- เครื่องจักร สำหรับผลิตอาหาร และบรรจุภัณฑ์ ดร.อรรชกา กล่าว
สำหรับผลการดำเนินการในเบื้องต้นพบว่าสถานประกอบการมีการทำแผนกลยุทธ์ในด้านการค้าการลงทุนเพื่อเข้าสู่AECร้อยละ 64 มีการเจรจาและจับคู่เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจร้อยละ 58 มีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 มีการขยายตลาดไปสู่ประเทศในกลุ่ม AEC เพิ่มขึ้น ร้อยละ17และมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการร้อยละ 14 นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 213 กิจการ พบว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการรวมกว่า 185.7 ล้านบาทดร.อรรชกา กล่าวสรุป