กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของแกรนท์ ธอนตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) จากนักธุรกิจกว่า 2,500 รายใน 34 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) พบว่า แรงผลักดันที่ทำให้ภาคธุรกิจหลายองค์กรมีส่วนร่วมเกี่ยวกับกิจกรรมช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรหรือทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น แต่กิจกรรมดังกล่าวยังสามารถสร้างสำนึกทางธุรกิจที่ดี และส่งผลต่อภาพรวมงบการเงินขององค์กรด้วย นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้นของรายงานผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ (Sustainability report) ซึ่งผู้เข้าร่วมสำรวจส่วนใหญ่พยายามนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสู่ความสำเร็จต่อไป
ผลสำรวจ IBR ยังเผยว่า การมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย (Cost management) คือแรงผลักดันสำคัญอันดับแรก ที่ทำให้องค์กรทั่วโลกหันมาดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยมีผู้เห็นด้วยถึง 2 ใน 3 หรือร้อยละ 67 ของผู้เข้าร่วมสำรวจ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56 ในปี 2554 ซึ่งเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบลาตินอเมริกา ที่เห็นด้วยถึงร้อยละ 77 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 ในปี 2554 และในแถบอเมริกาเหนือที่ร้อยละ 76 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45 ในปี 2554 ในขณะที่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพราะเกิดจากความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภค กลับเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีถึงร้อยละ 72 ในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC ที่ร้อยละ 68 ในแถบยูโรโซนที่ร้อยละ 72 และในประเทศไทยที่ร้อยละ 67
ทอม โซเรนเซ่น หุ้นส่วนสายงานจัดจ้างบุคลากรระดับผู้บริหาร และผู้แลด้าน People & culture ของแกรนท์ ธอนตันในประเทศไทย กล่าวว่า “ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่ากิจกรม CSR และวัตถุประสงค์ภาพรวมทางธุรกิจขององค์กร ต่างมีความสอดคล้องซึ่งกันและกัน งานวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า ผลประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เริ่มกลายเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้มากขึ้น อาทิ การยกเว้นภาษีในการทำกิจกรรมเพื่อการกุศล หรือค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานในองค์กรที่ลดลง อันเนื่องจากการใช้มาตรการประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ”
ทอม ยังคงกล่าวต่อว่า “การเพิ่มขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ในปัจจุบัน ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้น เพราะมีส่วนช่วยทำให้ลูกค้าเกิดความภักดีและยังถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงให้แก่องค์กรอีกด้วย เราอาศัยอยู่ในโลกยุคดิจิตอลที่ลูกค้าสามารถรับรู้และแสดงความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็ว เราจึงจำเป็นต้องตระหนักเสมอ ไม่ใช่แค่ว่าเรากำลังจะทำอะไร แต่รวมถึงเราจะทำสิ่งนั้นอย่างไรด้วย บริษัท ที่ได้ผลประโยชน์บนความบนความสูญเสียของสังคมและสิ่งแวดล้อม อาจเจอการตอบโต้อย่างหนักจากกลุ่มสังคมออนไลน์ที่ไม่เห็นด้วย และอาจจะต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับความต้องการสินค้าและบริการในตลาดที่ตกลงอย่างรวดเร็วก็ได้”
“อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในตอนนี้ คือวิธีการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ Gen Y ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR ได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่นการทำกิจกรรม Ice bucket challenge เพื่อหาเงินบริจาคให้กับสมาคม ALS เพื่อผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งก่อให้เกิดกระแสตอบรับอย่างไม่น่าเชื่อไปทั่วโลก โดยสามารถหาเงินบริจาคได้มากกว่า10 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในเวลาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น”
“สำหรับแกรนท์ ธอนตัน นับตั้งแต่ปี 2534 ที่เราได้ก่อตั้งธุรกิจในประเทศไทยเป็นต้นมา เราได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น คือการส่งมอบความยั่งยืนกลับคืนสู่สังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชนเช่นกัน ดังนั้นกิจกรรม CSR ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานและองค์กรของเรา” ทอม กล่าวสรุป
ข้อมูลในผลสำรวจ IBR ได้แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมทางด้าน CSR ทั่วโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 68 ของผู้สำรวจตอบว่าเป็นการบริจาคเงินให้แก่ชุมชนหรือองค์กรการกุศล ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย ขณะที่ร้อยละ 65 กล่าวว่าพวกเขาได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนหรือองค์กรการกุศล และร้อยละ 65 เช่นกัน เป็นเรื่องของเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานและการจัดการของเสียหรือขยะ สำหรับประเทศไทยนั้น การบริจาคสินค้าหรือบริการเป็นกิจกรรม CSR ที่นิยมมากที่สุด โดยมีถึงร้อยละ 58
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันนี้ร้อยละ 31 หรือเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ร่วมสำรวจ มีรายงานผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ ทั้งแบบแยกหรือรวมกับรายงานงบการเงินขององค์กร แต่อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 26 มีแผนในการเสนอรายงานในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนออกสู่สาธารณะชนในอีก 5 ปีข้างหน้า และโดยรวมกว่าร้อยละ 57 เห็นสมควรว่า การรายงานในเรื่องอื่นนอกเหนือจากข้อมูลทางด้านการเงินอย่างเช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรจะรวมเข้ามาในรายงานงบการเงินด้วย
ฟรานเชสก้า ลาเกอร์เบิร์ก หัวหน้าสายงานบริการด้านภาษีทั่วโลกของแกรนท์ ธอนตัน กล่าวว่า “สำหรับผู้บริหารนั้น การขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถที่จะละเลยประเด็นในเรื่องของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้ มันเป็นเรื่องยากที่จะแยกออกจากกัน อย่างในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน หลายองค์กรพยายามใช้การลดหรือตัดค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดไปได้ แต่ปัจจุบันขณะที่ทุกอย่างดีขึ้น หลายองค์กรก็ยังคงเอากิจกรรม CSR มาใช้ เพื่อช่วยในการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายอยู่ อย่างการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือแม้แต่การใช้วัสดุท้องถิ่นในประเทศมาใช้แทนการนำเข้า ไม่แน่ว่าในสภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น เราอาจจะได้เห็นหลายองค์กรใช้กิจกรรม CSR เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของพวกเขาเอง”
ฟรานเชสก้า กล่าวเสริมว่า “รายงานประจำปีขององค์กรที่มีการบูรณาการข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไปด้วย (Integrated reporting) จะมีบทบาทความสำคัญที่มากขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ลงทุนขององค์กร สามารถมองเห็นภาพรวมของความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งในด้านการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม”