กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“การเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 25 - 39 ปี”
โดย ดร. บุญเลิศ จิตรมณีโรจน์ และ ผศ.ดร. วีระชาติ กิเลนทอง
สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบายมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
แรงงานในระบบในช่วงอายุ 25-39 ปี มีจำนวนประมาณ 47% ของแรงงานในระบบทั้งหมดซึ่งใหญ่กว่าแรงงานในช่วงอายุ 40-60 ปี การสร้างความตระหนักในด้านการออมการลงทุนเพื่อวัยเกษียณสำหรับแรงงานกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญต่อการบรรเทาปัญหาสังคมผู้สูงอายุในอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจการเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 25 - 39 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 1,105 รายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
งายวิจัยได้สรุป 9 ปัจจัยขับเคลื่อนความเพียงพอของการออมเพื่อวัยเกษียณโดยเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ข้อมูลของแรงงานอายุ 25-39 ปีกับกลุ่มอายุ 40-60 ปี[1] พบว่า 63% ของแรงงานในกลุ่มอายุ 25-39 ปีมีโอกาสเกษียณทุกข์สูงกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปี
เนื่องจากกลุ่มอายุ 25-39 ปียังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นสร้างรากฐานของชีวิตจึงให้ความสำคัญกับการออมเพื่อวัยเกษียณเป็นอันดับสุดท้ายเมื่อเทียบกับการออมเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อย่างไรก็ตามอัตราการออมในปัจจุบันอยู่ในระดับ 20% ของรายได้ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มอายุ 40-60 ปีที่อยู่ในวัยสะสมความมั่งคั่ง นอกจากนี้กลุ่มอายุ 25-39 ปีประเมินค่าใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณไว้ประมาณ 12.6% ของสินทรัพย์ ณ ปีที่เกษียณซึ่งสูงกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปีที่ประเมินไว้ที่ระดับ 5.7% อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มอายุยังคงประเมินค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณไว้ต่ำกว่าที่ควรโดยประเมินว่าค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะเหลือเพียง 34-35% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณด้วย ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์การประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษีณที่ระดับ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณตามหลักการวางแผนทางการเงิน
ปัจจัยด้านเวลาที่มีอิทธิพลต่อความเพียงพอของเงินออมในวัยเกษียณที่สำคัญได้แก่ อายุเริ่มต้นในการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณพบว่ากลุ่มอายุ 25-39 ปีเริ่มวางแผนตั้งแต่อายุ 33 ปีซึ่งเร็วกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีระยะเวลาออมเพื่อวัยเกษียณนานกว่า อย่างไรก็ตามแรงงานในกลุ่มอายุ 25-39 ปีมีสัดส่วนผู้ที่คาดว่าจะเกษียณอายุงานก่อนกำหนด 33% ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความเพียงพอของเงินออมเพื่อวัยเกษียณ
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการและที่ปรึกษา สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และคุณฉัตรรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด ผู้วิจารณ์ผลงานวิจัยมีความเห็นสอดคล้องในหลายประเด็น ได้แก่ 1) การให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณซึ่งควรสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นเป็นเรื่องใกล้ตัวตั้งแต่เริ่มมีเงินได้โดยเรียนรู้เรื่องการวางแผนการใช้จ่ายก่อนนำไปสู่การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ 2) เพิ่มความครอบคลุมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกำหนดกองทุนต้นแบบ (default policy) เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนตัดสินใจเลือกกองทุนง่ายขึ้นแล้วจึงพัฒนาไปสู่ระบบ employee choice 3) ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดการออมภาคบังคับซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าระบบสมัครใจ 4) เพิ่มความต่อเนื่องของการออมในกองทุนเพื่อการเกษียณ เช่น กรณีเกษียณอายุเป็นเหตุให้สิ้นสุดสมาชิกภาพจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กบข. ควรเปิดโอกาสให้โอนไปลงทุนต่อเนื่องในกองทุนอื่นได้โดยอัตโนมัติ เช่น RMF 5) พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการเกษียณประเภทควบการลงทุน (unit linked) โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารทุนเพื่อโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน 6) พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถปรับสัดส่วนตราสารที่ลงทุนให้เหมาะกับอายุที่เพิ่มขึ้นของผู้ลงทุน
คุณวิวรรณให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า กองทุนที่เหมาะสมกับการลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้แก่ กองทุนผสม และควรส่งเสริมการลงทุนในตราสารทุน (equity culture) เพิ่มเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยคำนึงถึงการยอมรับความเสี่ยงที่ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และข้อเสนอแนะสำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนควรแสดงให้ผู้ลงทุนเห็นว่าการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนไม่ได้เพิ่มความผันผวนให้กับผลตอบแทนของพอร์ตมากจนเกินระดับที่ยอมรับได้ และควรปรับแนวคิดในการลงทุนใน LTF โดยควรสนับสนุนให้นำเงินใหม่มาลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรสนับสนุนการนำเงินที่ได้จากการขายเงินลงทุนที่ครบกำหนดตามเงื่อนไขมาลงทุนใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ลงทุนให้มีเงินออมมากขึ้น และบลจ.มีขนาดกองทุนภายใต้การบริหารมากขึ้น
คุณฉัตรรพีได้ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายว่าไม่ควรกลัวความเสี่ยงแทนผู้ลงทุนซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่ควรเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนเกิดขึ้นยาก แต่ควรสนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทุกประเภท และสนับสนุนให้ลงทุนโดยใช้บริการจากผู้บริหารการลงทุนมืออาชีพ
[1] โครงการวิจัยเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 40 - 60 ปี,
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2555
download เอกสารการสัมมนาสามารถได้ที่ www.set.or.th/setresearch