กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--ซิลเลเบิล
กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดกิจกรรม “ตามรอยอารยวรรณกรรม” มอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักเขียนเจ้าของผลงาน พร้อมชูวรรณกรรมประจำเขต สร้างความภาคภูมิใจให้ประชาชนในทั้ง 50 เขต อันเป็นการส่งเสริมความรักการอ่านวรรณกรรมอันจะนำไปสู่การเรียนรู้วิถีชุมชน และสร้างคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนโครงการรณรงค์กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการอ่าน ตามพันธกิจเมืองหนังสือโลก โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณอมร กิจเชวงกุล เป็นประธานในพิธีเปิดงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม เจ ดับบลิว แมริออท สุขุมวิท โดยมีนางสาวปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยว กทม. พร้อมผู้อำนวยการเขตจากทั่วกรุงเทพมหานคร ร่วมให้การต้อนรับ
กิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญในแวดวงวรรณกรรม ได้แก่ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ (กฤษณา อโศกสิน) นางเพ็ญศรี เคียงศิริ (นราวดี) ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร นางสุภา สิริสิงห (โบตั๋น) นายประภัสสร เสวิกุล คุณหญิง วินิตา ดิถียนต์ (ว. วินิจฉัยกุล/แก้วเก้า) นางชมัยภร แสงกระจ่าง บางคมบาง นายดำรง อารีกุล นางกนกวลี พจนปกรณ์ และนายประชาคม ลุนาชัย ตลอดจนทายาทนักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมประจำเขตหลายท่าน นักเขียนและกวีซีไรต์ และที่ขาดมิได้คือ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นายเจน สงสมพันธุ์ และนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นายจรัญ หอมเทียนทอง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การที่แต่ละเขตของกรุงเทพมหานครได้มีวรรณกรรมประจำเขตนั้นนับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เนื่องเพราะวรรณกรรมนั้นนับเป็นหนึ่งในศิลปะอันล้ำค่าที่มีชีวิตตลอดกาล เป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและความเป็นไปในแต่ละช่วงเวลา ทั้งในเรื่องของภาษา แฟชั่น ศิลปะ ดนตรี การเมือง สภาพสังคม และค่านิยมในแต่ละยุคสมัย การได้อ่านวรรณกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อมในแต่ละเขตจึงเปรียบเสมือนเป็นการฉายภาพให้เห็นสภาพบ้านเมืองของแต่เขต แต่ละพื้นที่ในช่วงเวลานั้น ๆ”
รองผู้ว่าฯ กล่าวต่ออีกว่า วรรณกรรมประจำเขตยังช่วยกระตุ้นความสนใจในหมู่นักอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักอ่านหน้าใหม่ ให้เกิดความอยากรู้ อยากค้นหา สืบเสาะว่าแต่ละเขตมีนวนิยายเรื่องใดเป็นวรรณกรรมประจำเขต มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง หรือมีบทบรรยายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ อย่างไร แตกต่างจากปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งนับเป็นกระตุ้นให้เกิดการอ่านได้เป็นอย่างดี ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าโครงการนี้จะทำให้มีนักอ่านหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย และส่งเสริมให้ผู้ที่ชื่นชอบการอ่านหนังสืออยู่แล้วยิ่งสนใจอ่านหนังสือกันเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่ประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งยังเป็นไปตามพันธกิจที่ให้ไว้กับองค์การยูเนสโกที่ได้เลือกให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556
ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ “ตามรอยอารยวรรณกรรม” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการ “ปักหมุด” วรรณกรรมอันทรงคุณค่าแต่ละเรื่องลงบนพื้นที่แต่ละเขตของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการนำเสนอนาฏลีลา โดยคณะ “คิดบวกสิปป์” ตีความจาก 3 วรรณกรรมยอดนิยมตลอดกาลได้แก่ “แสนแสบ” ของ “ไม้เมืองเดิม” วรรณกรรมประจำเขตบางกะปิ “คู่กรรม” โดย “ทมยันตี” จากเขตบางกอกน้อย และ “เปิดตำนานแม่นากพระโขนง” โดย เอนก นาวิกมูล พร้อมการแสดงจำอวดหน้าม่าน โดย ครูปราสาท “ครูมืด” ทองอร่าม และคณะ ฯลฯ
กิจกรรมภาคบ่าย เป็นการเสวนาในหัวข้อ “อ่านวรรณกรรม อ่านใจ ได้อารยะ” โดยนักเขียนชั้นนำของเมืองไทย ได้แก่ ประภัสสร เสวิกุล, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ และอังคาร จันทาทิพย์ โดยมีอดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ชมัยภร แสงกระจ่าง บางคมบาง เป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมยอวาทีในหัวข้อ “เท่-เหนือ-ไทย ใน ๑ เขต ๑ วรรณกรรม กรุงเทพมหานคร” โดยนักพูดฝีปากเอก กรรณิการ์ ธรรมเกษร, อาจารย์สมชาย หนองฮี, อาจารย์พิษณุ สกุลโรมวิลาส และอาจารย์ปิยนุช นาคคง โดยมี ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ เป็นผู้ดำเนินรายการ
รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า เพื่อที่จะให้ชาวกรุงเทพมหานครซึ่งได้ชื่อว่า “มหานครแห่งการอ่าน” และ “เมืองแห่งปัญญา” ตลอดจนผู้ที่สนใจอื่น ๆ ได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมดี ๆ เหล่านี้อย่างทั่วถึง กทม.ยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดซื้อวรรณกรรมที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการ “๑ เขต ๑ วรรณกรรม” ไว้ประจำห้องสมุดในแต่ละเขตด้วย