กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
ในสังคมปัจจุบันเกิดการขาดจิตสำนึกงานด้านศิลปะการแสดงอย่างแท้จริง นิสิต นักศึกษา ที่เข้ามาศึกษาในสถาบันสอนการแสดงมักต้องการเป็นดาราแค่เพียงมิติเดียว นับว่าขาดจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาศิลปะวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืน ทั้งนี้การแสดง “แช่งน้ำ” ของ BU Theatre Company สถาบันอาชีพด้านศิลปะการแสดงเพื่อบ่มเพาะว่าที่ศิลปิน ทุกสาขาอาชีพในธุรกิจบันเทิงมีจุดประสงค์ที่จะปลุกจิตสำนึกให้คนไทย ได้ตื่นรู้งานวัฒนธรรมระดับมหภาค นับเป็นพันธกิจสำคัญยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อแปลงทุนทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์
ลานหอศิลป์ กรุงเทพฯ – ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี นักวิชาการละครชื่อดัง ผู้อำนวยการศิลป์ แห่ง Bu Theatre Company และหัวหน้าภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า การแสดง “แช่งน้ำ” นับเป็นไฮไลท์ของเทศกาล “IF International Performing Arts” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่รวมศิลปินจากนานาชาติทั้งหมด 9 ประเทศมาร่วมงานในครั้งนี้ จุดประสงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกคนให้ตื่นรู้งานวัฒนธรรมระดับมหภาค ที่ต้องการให้สังคมและรัฐบาลได้เข้าใจงานศิลปะการแสดงที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพมุ่งมั่นทุ่มเท เพื่อแปลงทุนทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์และเพื่อสร้างประชากรไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ผ่านศิลปะการละคร
บทบาทหนึ่งผมเป็นอาจารย์ อยู่ในแวดวงนักวิชาการละคร มีความใกล้ชิดกับนักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ในแวดวงเดียวกัน บ่อยครั้งรับรู้ได้ถึงมุมมองงานศิลปะของบุคลากรในแวดวงเดียวกัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งด้านอุดมการณ์ และอุดมคติ ขาดจินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ปัจจุบันมีการมองศิลปะคับแคบอยู่แค่ตัวเองหรือแค่ในรั้วมหาวิทยาลัย มีน้อยคนมากที่จะเห็นถึงอุดมการณ์ และอุดมคติ ในการที่จะทำงานศิลปะการแสดงเพื่อช่วยพัฒนาประชาชนและประเทศชาติ
ทั้งการขาดอุดมการณ์ และอุดมคติ ดังกล่าวทำให้มีน้อยคนที่รับรู้ในสิ่งที่ Bu Theatre Company ทำ และในจำนวนนั้นนับวันมีน้อยลงเรื่อย ๆ ที่เข้าใจถึงคุณค่า เพราะต่างคิดว่าศิลปะการแสดงเป็นศาสตร์เบา มาเรียนเพื่อเป็นดารา “เรารวย มหาวิทยาลัยรวย ก็เลยทำแต่งานใหญ่ๆ” รวมทั้งในมุมของนักการละครร่วมสมัยก็รู้จักแต่คนทำละครกลุ่มเดียว คือกลุ่มที่ดัดแปลงห้องแถวมาทำโรงละคร หน่วยงานที่ดูแลศิลปะร่วมสมัยก็ให้รางวัลวนไปวนมาในวงแคบๆที่ตนรู้จัก ถึงกับต้องงดแจกรางวัลไปหลายปี คนทำละครหลงไปว่าศิลปะการละครบ้านเราเจริญเฟื่องฟูแล้ว
ทั้งที่บ้านเราไม่มีโรงละครที่สมบูรณ์ให้จัดแสดงด้วยซ้ำ เป็นการสร้างความเข้าใจที่คับแคบ ให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจละครอย่างแท้จริง ขณะที่หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญแต่ ASEAN Economics Community - AEC หรือมิติทางการค้า แต่ไม่ได้พูดถึงมิติความมั่นคงทางการเมือง และมิติทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งสำคัญมากในการที่จะผลักดันสนับสนุนมิติทางการค้า เพราะศิลปะการแสดงคือวัฒนธรรม อารยธรรม ที่สามารถเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์
รวมทั้ง ในปัจจุบัน จะเห็นว่าทางมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งเปิดศิลปะการแสดงกันทั้งนั้น เราเป็นผู้วิพากษ์หลักสูตรให้หลายๆ ที่ บอกได้ว่า น่าตกใจ เพราะ หลักสูตรแสดงให้เห็นว่า ไม่มีความเข้าใจศิลปะการละคร ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ตรงสาขาเพียงพอ เพราะคิดว่าใครก็สอนได้ บางแห่งมีดารามาขาย บางแห่งไม่มีสถานที่ ไม่มีเครื่องมือ อุปกรณ์ใดๆ แม้แต่ห้องว่างเพื่อเรียนการแสดง คำถามคือ แล้วเราจะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพได้อย่างไร จะยกระดับศิลปะการแสดงในประเทศได้อย่างไร หลอกให้เด็กอยากเป็นดารามากกว่าที่จะพัฒนา Creative Content และตัวบุคลากรเพื่อรองรับ AEC
“ สิ่งที่ Bu Theatre Company กำลังทำ ไม่ต่างจากคณะละครมืออาชีพ ไม่ใช่ผลงานเด็กๆ ฝึกทำละคร แต่มีคุณภาพระดับชาติและนานาชาติ เราจึงต้องออกมาทำความเข้าใจ สร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคมคนรุ่นใหม่ที่กำลังคิดที่จะเข้ามาเรียนศิลปะการแสดงว่า ศิลปะการแสดงไม่ใช้ศาสตร์เบา ฉาบฉวย แต่เป็นศาสตร์หนักสำหรับนักคิด เพราะนอกจากศิลปะการแสดงใช้พัฒนาการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมืองแล้ว ศิลปินต้องมีบทบาทสะท้อนและนำทางให้แก่สังคม” ผศ. พรรณศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้เทศกาลศิลปะการแสดงที่รวมศิลปินจาก 9 ชาติครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร จะจัดระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม 2557 ณ หอศิลป์กรุงเทพ BACCและที่Black Box Theatre ม.กรงเทพ รังสิต ติดตามการแสดงได้ที่ www.iffest.net