กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง สำรวจสถานการณ์แบ่งขั้วแบ่งฝ่ายการเมืองและ ประเมินความสุขมวลรวมของแกนนำชุมชนทั่วประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 600 ชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 27 กันยายน – 4 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า
แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.2 ยังคงสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มของฐานสนับสนุนของแกนนำชุมชนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พบว่ามีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 86.3 ในวันที่ 5 กันยายน ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 81.0 ในวันที่ 20 กันยายน และลงมาอยู่ที่ร้อยละ 77.2 ในวันที่ 4 ตุลาคมโดยสัดส่วนของแกนนำชุมชนไปอยู่ในกลุ่มที่ขออยู่ตรงกลางเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.9 ในวันที่ 5 กันยายน มาอยู่ที่ร้อยละ 19.6 ในวันที่ 4 ตุลาคม
ที่น่าเป็นห่วงคือ ยังคงมีแกนนำชุมชนจำนวนมากหรือร้อยละ 41.5 ที่ระบุว่ามีการแบ่งแยกทางการเมืองในชุมชนของตนเอง ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.5 ระบุไม่มีการแบ่งแยกทางการเมืองเลย โดยกลุ่มที่ไม่สนับสนุน คสช. เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.7 ระบุมีการแบ่งแยกทางการเมืองในชุมชนของตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 47.3 ของกลุ่มแกนนำชุมชนที่ไม่สนับสนุน คสช. ระบุไม่มีการแบ่งแยกทางการเมืองเลย
เมื่อถามถึงการติดตามรับชมรายการคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.3 ยังคงติดตาม ในขณะที่ร้อยละ 23.7 ไม่ได้ติดตาม
เมื่อถามถึงความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อการปฏิบัติงานของรัฐบาลที่ผ่านมาในด้านต่างๆ ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า อันดับแรก ได้แก่ การวางรากฐานในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 8.00 คะแนน อันดับสอง ได้แก่ การพิจารณา ร่าง พรบ. การค้างาช้าง ร่าง พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้ 7.89 คะแนน อันดับสาม ได้แก่ การปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ ได้ 7.82 คะแนน อันดับสี่ ได้แก่ การจะไปเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ 7.77 คะแนน และอันดับห้า ได้แก่ กฎหมายภาษีมรดก สร้างความเป็นธรรมในสังคม ได้ 7.69 คะแนน และรองๆ ลงไปคือ การยกระดับให้การศึกษาสายอาชีวะ ได้ 7.66 คะแนน การกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ได้ 7.65 คะแนน การพิจารณาร่าง พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ 7.62 คะแนน การคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ 7.59 คะแนน และมาตรการป้องกันเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวะ ปลูกฝังระเบียบวินัย ได้ 7.58 คะแนน
เมื่อสอบถามถึง ความสุขมวลรวมของแกนนำชุมชนที่มีต่อสถานการณ์โดยภาพรวมของประเทศและชีวิตส่วนตัว เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า คะแนนความสุขมวลรวมของแกนนำชุมชนอยู่ที่ 7.57 คะแนน แต่ที่น่าพิจารณาคือ ความสุขมวลรวมของแกนนำชุมชนที่ขออยู่ตรงกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมีค่าคะแนนต่ำสุดคือ 6.81 คะแนน ในขณะที่แกนนำชุมชนที่สนับสนุน คสช. มีความสุขมวลรวมสูงสุดคือ 7.76 และความสุขมวลรวมของแกนนำชุมชนที่ไม่สนับสนุน คสช. มีความสุขอยู่ที่ 7.61 คะแนน
รศ.ดร.เชษฐ์ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสลายขั้วทางการเมืองคือ การสร้างความสนใจร่วมกันให้เกิดขึ้นในชุมชนโดยแต่ละชุมชนจะมีความสนใจร่วมกันแตกต่างกันไป บางชุมชนจะเน้นเรื่องปัญหาปากท้อง การประกอบอาชีพ แต่บางชุมชนจะสนใจเรื่องมลพิษ สิ่งแวดล้อม ที่ทำกิน และปัญหาอาชญากรรม โดยรัฐบาลต้องทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแต่ละชุมชนที่มีจำนวนกว่า ๘๐, ๐๐๐ ชุมชนทั่วประเทศและนำมาจัดกลุ่มความสนใจร่วมของประชาชนในแต่ละชุมชน จากนั้นกระตุ้นให้ประชาชนในแต่ละชุมชนหันมาทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจร่วมกันของคนในชุมชนสู่เป้าหมายร่วมกัน และเมื่อทุกคนช่วยกันทำจนถึงเป้าหมายแล้วก็ร่วมกันกำหนดความสนใจร่วมกันใหม่ทำร่วมกันเช่นนี้ต่อเนื่องไปจะช่วยลดการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองของประชาชนในแต่ละชุมชนได้ นอกจากนี้ ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ ผลจากการสัมภาษณ์เจาะลึกแกนนำชุมชนพบทัศนคติที่ต้องเฝ้าระวังคือ การเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “ความดีต้องกินได้” การที่รัฐบาลเร่งจัดระเบียบวินรถตู้ วินมอเตอร์ไซด์ แท๊กซี่ และการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ต้องทำให้ค่าครองชีพ ค่าบริการลดต่ำลง เพื่อจะเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชนสู่การมีเงินเก็บออมได้มากขึ้น